การพัฒนาที่ครอบคลุม และ วิถีทางการดำเนินการ ด้านสังคม และ เศรษฐกิจ

เป็นที่ทราบดีแล้วว่า ประเทศในแถบเอเชีย ยกเว้น ญี่ปุ่น เกาหลี จีน และใต้หวั่น ส่วนใหญ่แล้ว ยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา หรือ ด้อยพัฒนา เช่นเดียวกันกับบางประเทศในทวีปแอฟรีกา ถึงแม้ว่าประเทศเหล่านี้ โดยเฉพาะ ประเทศที่มีประชากรเป็นมุสลิม มีวัตถุดิบมหาศาล เช่น น้ำมันดิบ ทอง และแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งได้ถูกค้นพบ เมื่อสิบๆ ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะ น้ำมัน ที่มีอยู่ในประเทศอาหรับ ในรัฐตรังกานู ของสหภาพมเลเซีย และ ประเทศอินโดนีเซีย และเมื่อไม่นานมานี้ ได้มีการค้นพบก๊าซธรรมชาติ ในภาคใต้ของประเทศไทย ถึงแม้ว่าประเทศเหล่านี้ รวยไปด้วยกับวัตถุดิบ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราก็ต้องยอมรับ สภาพความเป็นจริงว่า เรายังอยู่ ในความล้าหลัง ในทุกๆ ด้าน มิว่าด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านวิชาการ และ ด้านเทคโนโลยี สำหรับประเทศมุสลิม เกือบทั้งหมด ก็ว่าได้ ยังอยู่ในกลุ่มประเทศที่ด้อยพัฒนา และ แน่นอน เพื่อกำจัดสิ่งนี้ และ เพื่อให้เท่าเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ประเทศเหล่านี้ จะต้องเพิ่มเป็นทวีคูณในการพัฒนา เพื่อจะได้รับประโยชน์จากวัตถุดิบต่างๆ และ จากทรัพยากรมนุษย์ ให้มากเท่าที่จะมากได้ ซึ่งในที่สุด จะสามารถปลอดพ้น จากการก้มหัว ให้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และด้านวิชาความรู้

สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุด ที่จะต้องพึ่งประเทศที่พัฒนาแล้ว คือ การสั่งเข้าสินค้า ประเภทผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เครื่องมือที่ใช้ในการทำการเกษตร และการศึกษา เช่น เครื่องจักร คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ในขณะเดี่ยวกัน ประเทศที่ด้อยการพัฒนาเหล่านี้ ได้ส่งผลผลิตทางการเกษตร เช่น ฝ้าย ยางพารา ข้าว ไม้ และอื่นๆ ซึ่งยังเป็นวัตถุดิบ ที่ยังมิได้แปรสภาพ ไปยังประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในสภาพที่ขาดดุลทางการค้า ไม่ว่าด้านราคา หรือปริมาณ

จากเหตุผลเหล่านี้ และเหตุผลอื่นๆ อีก เราควรทบทวน และวิเคราะห์ตนเอง โดยใช้คำถามเหล่านี้เพื่อถามตนเอง ก่อนที่เราจะถูกสอบสวน ในวันข้างหน้า :

    1. ประเทศมุสลิม และประเทศที่ด้อยการพัฒนา ได้รับประโยชน์โดยตนเอง จากวัตถุดิบ ที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ประทานให้ แล้วหรือยัง โดยมิต้องอาศัย ความช่วยเหลือ จากกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ?
    2. ประเทศมุสลิม และประเทศที่ด้อยการพัฒนา ได้บรรลุผลสำเร็จ ด้านวิชาการ หรือ ทรัพยสิน แล้วหรึ ที่สามารถนำวัตถุดิบมาใช้ประโยชน์โดยตนเอง ไม่ต้องพึ่งผู้คน หรือ บริษัท ที่ขึ้นกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น อเมริกา และ ญี่ปุ่น ?
    3. ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจ และ สังคม ต่างๆ นั้น เป็นเหตุขัดขวาง มิให้เกิดการพัฒนา ใช่ไหม ทั้งๆ ที่อัลกุรอ่าน ได้สนับสนุนเรา ตั้งแต่ หนึ่งพันสี่ร้อยกว่าปีมาแล้ว โดยความว่า :
    4. “ และสำหรับ แต่ละคนนั้น มีหลายระดับขั้น เนื่องจากสิ่งที่พวกเขาได้ประกอบ ไว้ และพระเจ้าของเจ้านั้น มิใช่เผลอไผล ในสิ่งที่พวกเขากระทำกัน “ [ 6 : 132 ]

    5. ประชาชาติ ของประเทศมุสลิม ได้เสียสละ แด่ประเทศชาติ และพี่น้องมุสลิม ดังที่อัลกุรอ่าน ได้กำหนดเป็นแนวทาง แล้วหรือยัง?
    6. หรือว่า ศาสนาอิสลาม ที่ผู้คนส่วนใหญ่ ในประเทศด้อยพัฒนานับถือกันนั้น เป็นสิ่งขัดขวาง มิให้ผู้คนมีการพัฒนา เพื่อปลอดพ้น จากความอ่อนแอ ความยากจน ความหิวโหย ให้กลายเป็นคน ที่มีความสามารถ ในการประดิษฐ์ มีความสามารถในการแก้ปัญหา ด้านสังคม และเศรษฐกิจ จนทำให้ประเทศเจริญรุ่งเรือง ทั้งๆ ที่อัลกุรอ่านได้ประกาศอย่างชัดเจน ซึ่งมีความว่า :

“ ต่อเมื่อ การละหมาดได้สิ้นสุดลงแล้ว ก็จงแยกย้ายกันไปตามแผ่นดิน และ จงแสวงหาความโปรดปรานของอัลลอฮ์ “ [ 62 : 10 ]

และ ท่านรซูล ( ซอลฯ ) เอง ก็ได้กล่าว โดยมีความว่า :

“ การแสวงหาสิ่งที่อนุมัติ เป็นหน้าที่ ภายหลังที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ ที่จำเป็น “

[รายงานโดย : อัล-บัยฮากีย์ จาก อิบนิมัสอุด ]

กล่าวโดยสรุป : สาเหตุที่ทำให้เราล้าหลัง ในด้านเศรษฐกิจ ด้านวิชาความรู้ และ เทคโนโลยี ล้วนแล้วมาจาก สาเหตุต่อไปนี้ :

    1. การที่มิได้ปฏิบัติตามหนทางที่อัลกุรอ่าน และ อัสซุนนะห์ ได้กำหนดไว้ อย่างเคร่งครัด ซึ่งสิ่งต่างๆ นั้น เป็นสิ่งจำเป็นในปัจจุบัน
    2. ขาดความรู้ ด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งจำเป็น ในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ และสังคม เพื่อยกระดับให้เป็นสากล และ มาตรฐาน
    3. ขาดความเสียสละ ในการทุ่มเท เพื่อให้เกิดการพัฒนา ในทุกๆ ด้าน
    4. เกิดปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง ทั้งใน และ นอกประเทศ แม้กระทั้ง กับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะทำให้เสียโอกาส ในการพัฒนาประเทศชาติ เพราะได้มุ่งอยู่กับการแก้ปัญหาเหล่านั้น

ไม่มีวิธีอื่น ที่จะทำให้เราปลอดพ้นจากปัญหาต่างๆ ที่ได้ประสบกับเรา นอกจากทำการ

ศึกษาปัญหา และสาเหตุต่างๆ นั้น อย่างรอบคอบ ไม่ใช่เพียงคำพูด หรือ เป็นการแสดงความกระตือรือร้น ซึ่งเมื่อพูดจบแล้ว ผู้ฟังก็ปรบมือให้ มันเป็นสิ่งที่ต้องทำ ต้องปฏิบัติเป็นรูปธรรม แล้วผลพลอยที่ดี ก็จะเกิดขึ้นเอง มันต้องเดินตามหนทางที่อัลกุรอ่าน และ อัสซุนนะห์ ที่ขาวบริสุทธิ์ ได้กำหนดให้ เพื่อจะให้สังคม และเศรษฐกิจของเราเจริญรุ่งเรือง เพราะทั้งสองนั้นเป็นผู้ค้ำประกันความสงบสุข ทั้งโลกนี้ และโลกหน้าให้กับเรา ดังที่เอก องค์อัลลอฮ์ ได้ตรัสไว้ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอ่าน ความว่า :

“ และแท้จริงนี่คือ ทางของข้าอันเที่ยงตรง พวกเจ้าจงปฏิบัติตามมันเถิด และอย่าปฏิบัติตามหลายๆ ทาง เพราะมันจะทำให้พวกเจ้าแยกออกไปจากทางของพระองค์ นั้นแหละที่พระองค์ได้สั่งเสียมันไว้แก่พวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะยำเกรง “ [6 : 153]

และท่านรซูล ( ซอลฯ ) ได้กล่าวเช่นกัน ความว่า :

“ เราได้ละทิ้งไว้แก่พวกเจ้า สองสิ่ง ซึ่งพวกเจ้าจะไม่หลงผิด ตราบใดพวกเจ้าได้ยึดกับสองสิ่งนั้นอย่างเคร่งครัด ทั้งสองสิ่งนั้นก็คือ อัลกุรอ่าน และ อัสซุนนะห์ “

นอกจากนั้นแล้ว เราได้พบในพระคัมภีร์อัลกุรอ่าน เป็นคำข่มขู่ ของพระองค์อัลลอฮ์ สำหรับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามอัลกุรอ่าน ความว่า :

“ และผู้ใดผินหลังจากการรำลึกถึงข้า แท้จริงสำหรับเขาคือ การมีชีวิตอยู่ อย่างคับแค้น และเราจะให้เขาฟื้นคืนชีพในวันกิยามะฮ์ ในสภาพของคนตาบอด เขากล่าวว่า : ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ ทำไมพระองค์จึงทรงให้ข้าพระองค์ ฟื้นคืนชีพขึ้นมาในสภาพของคนตาบอดเล่า ทั้งๆ ที่ข้าพระองค์เคยเป็นคนตาดี มองเห็น พระองค์ตรัสว่า : เช่นนั้นแหละ เมื่อโองการทั้งหลายของเราได้มีมายังเจ้า เจ้าก็ทำเป็นลืมมัน และในทำนองเดียวกัน วันนี้เจ้าก็ถูกลืม “ [ 20 : 124 – 126 ]

เมื่อเราศึกษาพระคัมภีร์อัลกุรอ่าน อย่างลึกซึ้งแล้ว เราจะได้พบว่า พระคัมภีร์อัลกุรอ่านนั้น ไม่ใช่เพียงแค่ธรรมนูญชีวิตของคนมุสลิมเท่านั้น แต่ยังเป็นธรรมนูญชีวิตของคนทุกคน ทุกสมัย และทุกสถานที่ ตั้งแต่สมัยที่ถูกประทานลงมาให้กับท่านรซูล ( ซอลฯ ) จนถึงวันกิยามะฮ์

เมื่อเราต้องการเดินพร้อมๆ กับโลกที่มีความเจริญ มีความรวดเร็วในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ที่เรียกกันว่า ยุคโลกไร้พรมแดน เราจะต้องเผด็จรวบรวมพลัง และความสามารถของเรา เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ จากทรัพยากร ในพื้นแผ่นดินของเรา เราจะต้องเผด็จกำลังร่วมกัน จนกระทั้งเกิดการพัฒนาในทุกๆ ด้าน และสามารถอำนวยสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตทุกวันนี้ ยิ่งกว่านั้น สามารถยกระดับสังคม ไม่ว่า ด้านเศรษฐกิจ ด้านวิชาความรู้ ด้านเทคโนโลยี และ ด้านอุตสาหกรรม เราจะต้องยึดกับอัลกุรอ่าน และอัสซุนนะห์ ไม่ว่าจะเป็นงานเดี่ยว หรืองานกลุ่ม หรืองานที่จะต้องร่วมกันกับคนอื่น แต่จะต้องบนพื้นฐานของความยุติธรรม และความสมดุล ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้า หรือส่งออก

สิ่งที่เราต้องรีบทำในขณะนี้ :

    1. เพิ่มความพยายามอุตสาหะ ในการทำงาน ปลูกฝังจิตสำนึกเยาวชนให้เป็นคนชอบค้นคว้า แสวงหาความรู้ เพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศของเรา และให้การสนับสนุนทุนการศึกษา แก่นักเรียนที่เรียนเก็ง ให้ไปศึกษาหาความรู้ ที่พวกเรายังขาดอยู่ในปัจจุบันทีประเทศที่เจริญแล้ว ดังที่ประเทศมเลเซียได้ทำมาแล้ว เมื่อหลายปีที่ผ่านมา และเหมือนที่รัฐบาลไทยได้ทำไว้ โดยการให้กู้ยืมแก่นักเรียนที่ยากจน เพื่อเป็นทุนในการศึกษาต่อ โดยมิได้คิดดอกเบี้ย และนักเรียนเหล่านั้น จะจ่ายคืนโดยการหักเงินเดือนส่วนหนึ่ง เมื่อได้ทำงานแล้ว . พระองค์อัลลอฮ์ ได้ตรัสในพระคัมภีร์อัลกุรอ่าน ซึ่งมีความว่า :
    2. “ ผู้ใดปฏิบัติความดี ไม่ว่าจะเป็นเพศชาย หรือ เพศหญิงก็ตาม โดยที่เขาเป็นผู้

      ศรัทธา ดังนั้นเราจะให้เขาดำรงชีวิตที่ดี … “ [ 16 : 97 ]

    3. พยายามกำจัดปัญหาการว่างงาน และให้การรักษาโรคภายนอก และโรคเกี่ยวกับจิต พร้อมกันนั้น ให้ใช้ความพยายามอุตสาหะในการกำจัดความยากจน ความเกียจคร้าน การไม่ทำงานโดยไม่มีสาเหตุที่รับได้ ท่านรซูล ( ซอลฯ ) ได้ข่มขู่ ผู้คนที่มีคุณลักษณะดังกล่าว ความว่า : “ คนที่จะได้รับโทษ อย่างทารุนที่สุดในวันกิยามะฮ์ คือ คนที่มีความเพียงพอ และอยู่เฉยๆ “ [ รายงานโดย : อัดดัยลามีย์ ในมุสนัด อัล – ฟิรดาวซ์ ] และอีกรายงานหนึ่ง ความว่า : “ มีผู้ชายสองคน ได้เข้าไปหาท่านรซูล ( ซอลฯ ) เพื่อที่จะขอทาน ท่านรซูล เห็นว่า ผู้ชายทั้งสองมีสภาพร่างกายที่สมบูรณ์ แข็งแรง เลยกล่าวว่า : “ สำหรับคนรวย และ คนที่แข็งแรงสามารถทำงานได้ จะไม่มีส่วนแบ่งทานให้ “ [ มุสนัด อัล – ฟิรดาวซ์ ]
    4. ร่วมมือจัดหางานให้กับประเทศที่ด้อยพัฒนา
    5. สิ่งที่ควรกล่าวคือ การมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือที่จริงจังบนพื้นฐานความสมดุล เป็นกำลังสำคัญยิ่งในปัจจุบัน โดยมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในด้านการส่งออก และ นำเข้า ระหว่างกลุ่มประเทศที่ด้อยพัฒนา เนื่องจากวัตถุดิบ หรือ ทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศหนึ่ง อาจจะแตกต่างกับอีกประเทศหนึ่ง บางประเทศรวยไปด้วยน้ำมันดิบ และ แร่ธาตุ บางประเทศรวยไปด้วยผลผลิตทางการเกษตร บางประเทศรวยไปด้วยนักวิชาการ นักคิด นักประดิษฐ์ และ บางประเทศมีผู้ใช้แรงงานที่มีความสามารถจำนวนมหาศาล สิ่งเหล่านี้จะเกิดผลดียิ่ง ถ้าได้มีการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน ระหว่างกลุ่มประเทศที่ด้อยพัฒนา ดังที่ประเทศไทย ประเทศมเลเซีย และประเทศอินโดนีเซีย ได้ร่วมกันทำ ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งมีชื่อว่า เศรษฐกิจสามเหลี่ยมทองคำ ( IMT – GT ) Indonesia , Malaysia , Thailand – Golden Triangle .

    6. เปิดสภาสูง เพื่อเจรจาการค้า และจัดแบ่งงาน และผลผลิตระหว่างกลุ่มประเทศที่ด้อยพัฒนา โดยการจัดแบ่งอย่างยุติธรรม และสมดุล ถ้าเราสามารถทำเช่นนั้น คงไม่นาน ประเทศของเราจะเกิดการพัฒนาในทุกๆ ด้าน
    7. เปิดตลาดกลางเสรี
    8. เมื่อประเทศกลุ่มด้อยพัฒนา มีการเปิดตลาดกลางเสรี เหมือนตลาดกลางเสรียุโรป ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบกลุ่มเล็ก ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศจำนวนจำกัด หรือกลุ่มใหญ่ ซึ่งประกอบไปด้วยประเทศจำนวนมาก คิดว่า คงไม่นาน ( ถ้าอัลลอฮ์ ทรงประสงค์ ) ปัญหาความล้าหลังที่ประสบกับประเทศที่ด้อยพัฒนา หรือ กำลังพัฒนา จะหมดไป หรือลดน้อยลง . สำหรับเรื่องนี้ รัฐบาลไทยได้มีการเชิญชวน บางประเทศ ในเอเชีย และยุโรป เพื่อเข้าประชุมร่วมกัน ที่กรุงเทพมหานคร ซึ้งจะจัดขึ้นระหว่าง วันที่ 29 กุมภาพันธ์ ถึงวันที่ 2 มีนาคม พศ . 2539 มีชื่อว่า การประชุมสุดยอด ASEM หวังว่า การประชุมที่จะจัดขึ้นนั้น จะเกิดผลดี เป็นที่ยอมรับของทุกคน ที่เอาใจใส่ ( ถ้าอัลลอฮ์ ทรงประสงค์ )

    9. จำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือทางการเงิน จากธนาคารอิสลาม
    10. ปัจจัยที่สำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ ทุนเพื่อจัดตั้งบริษัทการค้า เพื่อเปิดโรงงานอุตสาหกรรม และฟื้นฟูที่ทำการเกษตร เพื่อเป็นธุรกิจ สิ่งเหล่านี้ เป็นหนทางหนึ่ง เพื่อให้เกิดการพัฒนา หรือนำไปสู่ความสำเร็จ . แท้จริงได้ปรากฏในประวัติศาสตร์อิสลาม กล่าวคือ ท่านรซูล ( ซอลฯ ) ได้สมรส กับท่านหญิงคอดีเญาะห์ ( รอฎฯ ) ในช่วงต้นของการเผยแพร่ศาสนาอิสลาม นางเป็นเศรษฐีนีย์ ที่มีฐานะสูงส่งในสังคมสมัยนั้น นางได้ให้ความช่วยเหลือแก่ท่านรซูล ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สมบัติ หรือ ความคิด ซึ่งในตอนนั้นท่านรซูล ได้รับการต่อต้านอย่างรุนแรง จากผู้มีอิทธิพลในบรรดาชาวกุร๊อยซ์ ที่ปฏิเสธศาสนาที่ท่านรซูลได้นำมา จนกระทั้งพระองค์อัลลอฮ์ ได้เปิดทางนำ ( ฮิดายะห์ ) แก่ท่านอบูบักร ท่านอุษมาน ท่านอูมัร และ คนอื่นๆ อีกจำนวนมาก ( รอฎฯ ) ท่านเหล่านั้นก็ได้อุทิศทรัพย์สมบัติจำนวนมหาศาล ในการช่วยเหลือเผยแพร่ศาสนาจนสำเร็จ . สิ่งที่กล่าวมานี้ เป็นหลักฐานที่ชัดเจน บ่งบอกว่า ทรัพย์สมบัติ หรือ เงินทุน เป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้เกิดการพัฒนา จนเกิดผลสำเร็จ

      แท้จริง อัลลอฮ์ได้ประทานธนาคารอิสลาม และสถาบันการเงิน ที่ทำกิจการอันสอดคล้องกับศาสนาแก่เราเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น ธนาคารอิสลามดูบาย ธนาคารอิสลามไฟซอลที่ซูดาน ธนาคารอิสลามไฟซอลที่อิยิปต์ สถาบันส่งเสริมการลงทุนแบบอิสลามที่คูเวต ธนาคารอิสลามบาห์เรน ธนาคารอิสลามเพื่อการพัฒนาเจดดะห์ ซาอุดิอารเบีย ธนาคารอิสลามที่มเลเซีย อินโดเนเซีย อีหร่าน และ ปากีสถาน

      ทั้งหมดนั้นเป็นหนทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย ในการขอความช่วยเหสือในการกู้ยืม หรือทำกิจการร่วม เพื่อเกิดการพัฒนาที่ครอบคลุมทุกด้าน แก่ประเทศที่ด้อยพัฒนา

      ที่ประเทศไทยของเรา บรรดา ส.ส และ ส.ว ที่เป็นมุสลิม ได้พยายามทำเรื่องขออำนาจจากรัฐ เพื่อจัดตั้งธนาคารอิสลาม เพื่อคนมุสลิมจะได้ทำกิจการการเงินที่ปลอดพ้นจากสิ่งที่ต้องห้าม เช่น ดอกเบี้ย และ การกดขี่เพื่อเกิดกำไรที่ไม่เป็นธรรม และเรื่องดังกล่าว ทางรัฐบาล ได้เห็นด้วยเป็นการเบื้องต้น โดยให้ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นธนาคารของรัฐ เป็นผู้ทำการศึกษา วิจัยในเรื่องนี้ หวังว่า พระองค์อัลลอฮ์ คงให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้มุสลิมจะได้ทำกิจการธุรกิจ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การศึกษา เป็นต้น และเพื่อผู้คนเหล่านั้น จะได้ปลอดพ้นจากสิ่งที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ข่มขู่ ซึ่งมีความว่า : “ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ! พึงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด และจงละเว้นดอกเบี้ยที่ยังเหลืออยู่เสีย หากพวกเจ้าเป็นผู้ศรัทธา และถ้าพวกเจ้ามิได้ปฏิบัติตาม ก็พึงรับรู้ไว้ด้วย ซึ่งสงครามจากอัลลอฮ์ และรซูลของพระองค์ และหากพวกเจ้าสำนึกผิดกลับเนื้อกลับตัวแล้ว สำหรับพวกเจ้าก็คือ ต้นทุนแห่งทรัพย์ของพวกเจ้า โดยที่พวกเจ้าจะได้ไม่อธรรม และไม่ถูกอธรรม และหากเขา ( ลูกหนี้ ) เป็นผู้ยากไร้ ก็จงให้มีการรอคอย จนกว่าจะถึงคราวสะดวก และการที่พวกเจ้าจะให้เป็นทานนั้น ย่อมเป็นการดีแก่พวกเจ้า หากพวกเจ้ารู้ “ [ 2 : 278 – 280 ]

    11. ยึดมั่นกับกฎศาสนบัญญัติ :
    12. ในขณะที่เราทุ่มเทพละกำลังเพื่อการพัฒนา และยกระดับความเป็นอยู่ ให้ได้ระดับเท่าเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เราจะต้องยึดมั่นกับกฎศาสนบัญญัติ ที่ศาสนาได้วางไว้เป็นแนวทาง ในด้านสังคม และเศรษฐกิจ เราจะไม่ไขว้เขวออกนอกทาง เป็นอันขาด อาทิเช่น :

      1. การจ่ายซากาต ( ทานบังคับ )
      2. ซากาตเป็นสิ่งหนึ่ง ที่ประจักษ์ให้เห็นถึง การช่วยเหลือกัน ระหว่างคนรวยกับคนจน ดังนั้นพระองค์อัลลอฮ์ จึงบังคับให้มุสลิมแจกจ่ายซากาต มีความว่า :

        “ ( มูฮัมมัด ) เจ้าจงเอาส่วนหนึ่งจากทรัพย์สมบัติของพวกเขาเป็นทาน เพื่อให้พวกเขาบริสุทธิ์ และล้างมลทินของพวกเขาด้วยส่วนที่เป็นทาน

        นั้น …” [ 9 : 103 ]

        ดังนั้น สำหรับผู้ที่ประกอบการธุรกิจ ทำอุตสาหกรรม ทำการเกษตร และปศุสัตว์ จะต้องแจกจ่ายซากาต ตามสัดส่วนจำนวนที่ได้ระบุไว้ในหนังสือ

        ศาสนบัญญัติ .

      3. หลีกเลี่ยงการประกอบการกับทรัพย์สินที่ต้องห้าม
      4. เช่น กินทรัพย์สินเด็กกำพร้าโดยไม่ถูกต้อง ทรัพย์สินที่ได้มาโดยวิธีเล่ห์เหลี่ยมกลอุบาย ดอกเบี้ย หรือโกงชั่งตวง พระองค์อัลลอฮ์ได้ตรัส ซึ่งมีความว่า : “ ความหายนะ จงประสบแด่บรรดาผู้ทำให้พร่อง (ในการตวง และการชั่ง) คือ บรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขาตวงเอาจากคนอื่น ก็ตวงเอาเต็ม และเมื่อพวกเขาตวง หรือชั่งให้คนอื่น ก็ทำให้ขาด “ [ 83 : 1 – 3 ]

      5. หลีกเลี่ยงจากการกักตุนสินค้า
      6. การกักตุนสินค้า เป็นการประกอบการที่ผิดกับหลักศาสนาอิสลาม และ ไม่เป็นที่ยอมรับ ดังที่ได้ปรากฎในอาดิษ ของท่านรซูล ( ซอลฯ ) ความว่า :

        “ ผู้ใดก็ตามที่กักตุนสินค้า เพื่อที่จะให้ราคาเพิ่มสูงขึ้นกับมุสลิม เขาผู้นั้นได้กระทำความผิด “ [ รายงานโดย : อัลฮากิม จาก อบูฮูรัยเราะห์ ]

        อีกฮาดิษหนึ่ง มีความว่า :

        “ ผู้ใดกักตุนอาหารสี่สิบวัน เขาผู้นั้นจะปลีกตัวออกจากอัลลอฮ์ และ อัลลอฮ์จะไม่รับผิดชอบเขาผู้นั้น“ [ รายงานโดย: อิบนูมาญะห์ จากอิบนีอูมัร ]

        และท่านรซูลได้กล่าวอีก มีความว่า :

        “ ผู้ที่รวบรวมสินค้าเพื่อจำหน่าย จะได้รับความโชคดี ผู้ที่กักตุนจะได้รับการสาปแช่ง “ [ รายงานโดย : อิบนูมาญะห์ จาก อิบนีอูมัร ]

      7. พอประมาณในการใช้จ่าย
      8. สิ่งหนึ่งที่ทุกคนรู้ดีคือ การละเลย หรือเกินความเหมาะสมในการใช้จ่าย จะก่อให้เกิดความเลวร้าย และละเมิดในสิ่งที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ห้ามในพระคัมภีร์อัลกุรอ่าน ในเรื่องนี้พระองค์อัลลอฮ์ได้ดำรัส มีความว่า :

        “ และจงกิน และ จงดื่ม และ จงอย่าฟุ่มเฟือย แท้จริงพระองค์อัลลอฮ์ไม่ชอบบรรดาผู้ที่ฟุ่มเฟือย “ [ 7 : 31 ]

        และพระองค์ได้ดำรัสอีก ซึ่งมีความว่า :

        “ และอย่าให้มือของเจ้าถูกตรึงอยู่ที่คอของเจ้า และอย่าแบมันจนหมดสิ้น มิฉะนั้นเจ้าจะกลายเป็นผู้ถูกประณาม เศร้าโศกเสียใจ “ [ 17 : 29 ]

      9. ไม่นำความหายนะสู่ตนเองและสังคม
      10. ถ้าเราเปิดหนังสือศาสนบัญญัติ เราจะได้เจอหัวข้อมากมายที่พูดถึงเรื่องนี้ เช่น เรื่องเกี่ยวกับการยึดอำนาจเด็ก คนวิกลจริต คนทึ่ม ในการใช้จ่าย เพราะจะก่อให้เกิดความเดือดร้อนสู่พวกเขา และผู้อื่น ท่านรซูลได้กล่าว มีความว่า : “ ไม่มีความเดือดร้อนสู่ตนเอง และ ผู้อื่นในศาสนาอิสลาม “ [ รายงานโดย : อาหมัด อิบนูมาญะห์ และอัล-ดารูกุฎนีย์ จาก อิบนีอับบัส ]

      11. หลีกเลี่ยงจากการฉ้อโก่งทุกรูปแบบในการประกอบการงาน

เพราะสิ่งเหล่านี้ เป็นสิ่งที่พระองค์อัลลอฮ์ และ ท่านรซูลของพระองค์ได้ประณาม และผิดกับหลักการของอิสลาม ดังที่ได้ปรากฏในวจนธรรมของท่นรซูล มีความว่า : “ ผู้ใดฉ้อโก่ง เขาผู้นั้นไม่ใช่พวกเรา “

ดังนั้นท่านอูมัร อิบนุลคอตตอบ จึงได้เคร่งครัดมาก ในเรื่องนี้ ท่านได้เดินตรวจด้วยตนเอง ทั้งกลางวันและกลางคืน ในสมัยปกครองของท่าน ไม่ให้เรื่องนี้เกิดขึ้น แต่มีอยู่ครั้งหนึ่ง เรื่องของสองแม่ลูก ได้เกิดขึ้น กล่าวคือ มีผู้หญิงท่านหนึ่ง สั่งให้ลูกสาวของนาง ใส่น้ำผสมกับนม เพื่อให้ปริมาณและน้ำหนักของน้ำนมเพิ่มขึ้น โดยกล่าวกับลูกสาวว่า : ท่านอูมัร คงไม่รู้หรอก แต่ลูกสาวของนาง กลับตอบว่า : ถึงแม้ว่าท่านอูมัรไม่รู้ แต่พระผู้อภิบาลของท่านทรงรู้กับสิ่งที่เราได้กระทำ ผู้หญิงคนนั้นจึงได้เลิกกับสิ่งที่นางได้ตั้งใจไว้ . นี่เป็นตัอย่างหนึ่งที่บ่งบอกถึงความงามของจริยธรรมอิสลาม ที่บรรดามุสลีมีนในยุคก่อนๆ ได้ปฏิบัติทำ

สุดท้ายนี้ ข้าพเจ้าขอดูอา ให้เอกองค์อัลลอฮ์ทรงบันดาลให้ข้าพเจ้า และมุสลีมีนทั้งหลาย เป็นคนที่ชอบเดินรอยตามอัล-กุรอ่าน และ อัสซุนนะห์ ในการพัฒนาประเทศของเรา ในทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะ ด้านสังคม และเศรษฐกิจ จนประสบความสำเร็จทั้งโลกนี้ และโลกหน้า เพื่อตอบสนองคำดำรัสของเอกองค์อัลลอฮ์ ความว่า :

“ และแท้จริง นี่คือทางของข้าอันเที่ยงตรง พวกเจ้าจงปฏิบัติตามมันเถิด และอย่าปฏิบัติตามหลายๆทาง เพราะมันจะทำให้พวกเจ้าแยกออกไปจากทางของพระองค์ นั่นแหละที่พระองค์ได้สั่งเสียมันไว้แก่พวกเจ้า เพื่อว่าพวกเจ้าจะยำเกรง “ [ 6 : 153 ]

เขียนโดย

( ดาโต๊ะฮัจยีอูมัร ตอยิบ )

สมาชิกวุฒิสภา

และ

ประธานมูลนิธิอิสลาม เพื่อการศึกษา

25 รอมฎอน ฮศ . 1416

 

 

 

Hosted by www.Geocities.ws

1