<< หน้าแรก  |  ประวัติ |    การจัดหน่วย  |  ผู้บังคับหน่วย อากาศยาน |  นิรภัยการบิน  |  Links  >>

 


คนรุ่นเก่าเขาเล่าให้ฟัง

ตอน เมื่อจำเป็นต้องบังคับ เครื่องบินลงบนท้องทุ่งสีเขียว
พ.ท.ประพันธ์ วงศ์ศรีเพ็ง

มีเสียงซุบซิบของพวกนักบินหนุ่ม ๆ แว่วมาพอให้ พ.ท.ธวัธ บูรพา และผมได้ยิน จับใจความได้ว่า “เฮ้ยพี่น้องตระกูลไรท์มา หรือไม่ก็อาจารย์ปู่มาไป TAKE CARE กันเถอะ” เมื่อผม 2 คนได้บิน เครื่องบินเครื่องเดียวกันไปปฏิบัติภารกิจตามหน่วยบิน ทบ.ในพื้นที่ต่าง ๆ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเด็กเขาติหรือชม แต่ที่สำคัญคือคำว่า “อาจารย์ปู่” สงสัยคนพูดคงเพี้ยนหรือไม่คงดูหนังจีนมากไปหน่อย ก็ไม่ได้โกรธหรือดีใจหรือถือสาอะไร เพราะเรา 2 คนอายุรวมกันแล้วขาด 120 ปี ไม่เท่าไร และเป็นนักบินที่บรรจุในตำแหน่งที่ยังต้องทำการบินกันจริง ๆ ส่วนผมกับ พ.ท. ธวัชฯ นั้นรู้จักกันมานานตั้งแต่ พ.ศ. 2511 เมื่อแกเรียนศิษย์การบิน ทบ.(นายทหารประทวนรุ่นที่ 1) จนกระทั่งแกย้ายเข้ามาเป็นครูการบิน ทำงานที่เดียวกันกับผม มีเรื่องที่ต้องขอคุยสนุก ๆ ของครูการบิน ทบ.ช่วงนั้นสักหน่อย คือในตอนเย็นก่อนกินอาหารของแต่ละวันพวกเรามักมารวมกันโดยที่มิได้นัดหมาย เพื่อตั้งวงซึ่งเรียกว่า “ปรับ TRIM” (TRIM คือส่วนบังคับช่วยลักษณะเป็นแผ่นติดอยู่กับส่วนบังคับหลังของ บ.ติดอยู่ที่ RUDDER, ELEVATOR และ AILERON ใช้ปรับเพื่อช่วยให้นักบินได้บินด้วยความสบาย) ก็คือกินเหล้ากันนั่นเอง จะมีตั้งแต่ยาดองเสือ 11 ตัว จนกระทั่งเฮนเนสซี่ หรือ ชีวาส ขึ้นอยู่กับว่าต้นเดือนหรือปลายเดือน เราปรับ TRIM กันด้วยความระมัดระวังเสมอ เพราะ ภาพลักษณ์ของครูสำคัญยิ่งกับวันรุ่งขึ้น ภารกิจฝึกศิษย์การบินยังรออยู่ประโยชน์แฝงที่ได้จากการปรับ TRIM มีมากมาย เช่นบางครั้งครูมัวแต่ตั้งหน้าตั้งตาสอนศิษย์ฯ บินจนลืม LOOK AROUND ทำให้ บ.เกือบชนกัน หรือครูคนไหนเจอศิษย์ฯ ชนิด “หินยังเรียกพี่” เราก็จะมาขอโทษขอโพยกัน ปรึกษาขอคำแนะนำวิธีการฝึกจากผู้มีประสบการณ์กันที่ตรงนี้ และที่นี้เองทำให้ผมกับ พ.ท.ธวัชฯ สนิทสนมกันยิ่งขึ้นจนถึงปัจจุบัน

และเมื่อเร็ว ๆ ที่ผ่านมา ประมาณเดือนต้น ๆ ของปี 2538 บริษัทเฮอริเทจ ฟลายอิ้งคลับ ได้จัด บ.อุลตร้าไลท์ CHALLENGER มาตั้งแสดงที่ศูนย์การบิน ทบ.ในวันการบิน ทบ. ภายหลังจากงานเลิกแล้ว ผู้จัดการบริษัทฯ ได้ฝาก บ.เครื่องนี้ไว้ที่สำนักงานของผมเพื่อรอการบินกลับไปยัง ภูหมอก อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นสนามบินของบริษัทเอง เวลาผ่านไปเป็นเดือน ผู้จัดการบริษัทฯ ได้ติดต่อให้ผมบินไปส่งให้เขาบอกว่าเครื่องบินมันบินได้นานถึง 4 ชั่วโมง และความเร็วเดินทางตั้ง 60-70 ไมล์ ผมตกลงรับปากทันที เรื่องค่าจ้างไม่ต้องพูดถึง เพราะอยากสัมผัสกับ บ.แบบนี้มานานแล้ว หลังจากศึกษาข้อมูลจากคู่มือการบินจนพอรู้เรื่อง วันหนึ่งตอนเย็นหลังหลังเวลาราชการ ผมกับ พ.ท.ธวัชฯ อีกนั่นแหละนัดแนะกันเพื่อทดลองติด ย.และฝึก TAXI เพื่อดูอาการทั่ว ๆ ไป (บ. CHALLENGER เครื่องนี้ถอดขึ้นรถยนต์นำมาประกอบที่ ศบบ.) ครั้งแรกติด ย.ยากมากเพราะคงไม่ได้ทำการติดมาเป็นเวลานาน START จนไฟ BATTERRY หมด ต้องอาศัยต่อพ่วงจากรถยนต์ซึ่งใช้ไฟ 12 โวลท์เท่ากัน เมื่อพยายามปล้ำกันจน ย.ติดแล้วใจเย็นทดลอง ย.อยู่พักใหญ่ตาม CHECK LIST จนเห็นว่าเรียบร้อยดีจึงทดลอง TAXI หรือขับเคลื่อนที่พื้นดูบ้างความรู้สึกที่ ยังไม่คุ้นเคยกันมันแปลก ๆ ดี เริ่มตั้งแต่ท่านั่งเพราะจะต้องเหยียดขาเป็นแนวตรงขนานไปกับ พื้นดิน และที่นั่งซึ่งสูงจากพื้นไม่เกิน 1 ศอก ขากระเดื่อง RUDDER เคลื่อนที่ไม่ได้ เวลาเลี้ยวทั้งบนพื้นและในอากาศต้องใช้ปลายเท้ากดหรือจิกลงไปส่วนการใช้ BRAKE TAXI คัน BRAKE มีลักษณะคล้ายกับ BRAKE มือของรถจักรยานมีอันเดียวติดไว้กับ CONTROL STICK ใช้เพื่อ ให้ บ.ช้าลงหรือหยุดเท่านั้นช่วยในการเลี้ยวไม่ได้ ผมทดลอง TAXI ช้าบ้างเร็วบ้างรู้สึกว่า บ.เบามาก โดนลมนิดหน่อยก็โคลงพะเยิบพะยาบ ทำให้รู้สึกเสียว ๆ ดีเหมือนกันเมื่อผมทดลองจนคิดว่าพอบังคับมันได้คิดว่า “ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว” จะมัวรออะไรอยู่อีกล่ะ จึงหันหลังไปตะโกนบอก พ.ท.ธวัชฯ ซึ่งมีวิทยุแบบ AIR BAND ให้ติดต่อขอหอบังคับการบินสระพรานนาค เพื่อทำการวิ่งขึ้น พ.ท.ธวัชฯ ใส่ HEAD SET เช่นเดียวกับผม คงไม่เชื่อหูตัวเองว่าผมจะทำการวิ่งขึ้นย้อนถามผมว่า “ว่าไงนะ” ผมตะโกนบอกซ้ำประโยคเดิมไปอีก แกทำหน้างง ๆ แล้วพูดว่า “เอางั้นเรอะ” ผมไม่พูดอะไรได้แต่พยักหน้ารับ จากนั้นสักครู่แกสั่งให้ผม TAXI เพื่อไปวิ่งขึ้นบน RUN WAY 19 ผมทำ ENGINE RUN UP อีกครั้ง เพื่อความแน่ใจก่อนทำการวิ่งขึ้นและในขณะกำลังวิ่งขึ้น เมื่อผมเร่ง ย.จนสุด THROTTLE ในผมเต้นตึ๊กตั๊กเพราะเป็นครั้งแรกในชีวิตที่ได้บิน บ.ลักษณะนี้คิดว่า “มันจะพาเราขึ้นไหวไหมเนี่ยหรือว่าเมื่อมันวิ่งขึ้นพ้นพื้นไปแล้วขณะทำการบินและการนำ บ.กลับมาลงสนาม ขณะที่ บ.วิ่งขึ้นทั้งเสียง ย.และลมดังลั่นไปหมดเพราะบินโดยไม่ได้ใส่หน้าต่าง ขณะนั้นผมได้ละสายตาจากที่ LOOK AROUND มา CROSS CHECK เครื่องวัดปรากฏว่าเครื่องวัดเร็ว (AIR SPEED) เข็มไม่ยอมกระดิกไปทางไหนเลยสงสัยว่าแมลงคงเข้าไปทำรังในท่อทาง เพราะ ไม่ได้ทำการบินเป็นเวลาหลายเดือน ทั้งที่เป็นเครื่องวัดสำคัญอันดับ 1 ผมไม่ได้ตื่นเต้นหรือตกใจอะไร เพราะเคยโดนมาหลายหนแล้ว เช่น เครื่องวัดรอบ ย.เครื่องวัดความสูง และเครื่องวัดความ เร็วไม่ขึ้นหรือชำรุดผมหันหลังไปบอก พ.ท.ธวัชฯ ถึงสภาพที่เกิดขึ้นและก็อีหรอบเดิมคือ “ไหน ๆ ก็ไหน ๆ แล้ว” กับแค่เครื่องวัดความเร็วเสียอันเดียวเสี่ยงวิ่งขึ้นมาได้แล้วขืนขอกลับไปลงสนาม มันก็ไม่คุ้มค่าเสี่ยงนะซี ผมจึงต้องบังคับ บ.ไต่ไปที่ความสูง 2000 ฟุต เหนือสนามบินทดลองบินเพื่อศึกษาอาการตอบของส่วนบังคับ ปรากฏว่าอาการตอบในลักษณะหัว บ.ขึ้น-ลงนั้นไวมาก ส่วนการเลี้ยวและเอียงตอบช้ากว่าหมายถึง ต้องใช้น้ำหนักในการบังคับมาก บ.มีอาการตอบสนองกับลมที่มีความเร็วและกระโชกสูง คงเป็นเพราะน้ำหนักของ บ.น้อย ผมใช้เวลาบินอยู่ประมาณ 15 นาที จนเห็นว่าพอสามารถบังคับมันได้ จึงให้ พ.ท.ธวัชฯ ขออนุญาตหอฯ เพื่อนำ บ.กลับมาลงสนามบินในเมื่อเครื่องวัดความเร็วใช้ไม่ได้ก็ต้องอาศัยมุมร่อนและอัตราตกโดยเอาความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะนั้นเป็นหลัก ว่าสมควรจะใช้กำลัง ย.หรือมุมร่อนในการแก้ไข เพื่อให้สามารถลงสนามบินได้ด้วยความปลอดภัย และ FLIGHT แรกกับ บ.แปลก ๆ ในชีวิตของผมก็สำเร็จลงด้วยดี

<<  หน้าต่อไป  >>

 
         

Suggestions: mailto:[email protected]
Copyright
 
2001 1st. Cavalry Division Aviation Company - All rights reserved

Hosted by www.Geocities.ws

1