บันทึกจากการดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่นโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ

ระหว่างวันที่ 10 – 15 กันยายน 2546

******************

โดยนายอุดม มณีขัติย์ พัฒนาการจังหวัดเชียงใหม

บันทึกจากญี่ปุ่นเรื่องที่1

ผลสำเร็จของหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ของจังหวัดโออิตะ มีปัจจัยที่ส่งผล

-ภูมิประเทศที่ตั้งของจังหวัดโออิตะ ซึ่งมีลักษณะภูมิประเทศที่หลากหลาย ล้อมรอบ ไปด้วยภูเขา ที่ราบสูง และทะเล และมีแหล่งน้ำพุร้อน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของประเทศ

-แนวคิดของผู้นำ (ผู้ว่าราชการจังหวัดโออิตะ) นายโมริฮิโกะ ฮิระมัททซึ ที่เน้นการพัฒนาคุณภาพของบุคลากร โดยกระตุ้นให้ประชาชนมีความรู้สึกร่วมในการทำกิจกรรม นำทรัพยากรที่มีอยู่ ในชุมชนมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อเผยแพร่ชุมชนให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ในประเทศ และต่างประเทศ

-ผู้นำชุมชน ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐประจำท้องถิ่น มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ กิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนในหมู่บ้านมีอาชีพ ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมค้นหาจุดเด่นของชุมชน โดยมีวิสัยทัศน์ “ร่วมด้วยช่วยกัน ปลูกท้อและเกาลัด เพื่อจะได้ไปเที่ยวฮาวาย” จนกลายมาเป็นชุมชนสหกรณ์เพื่อการเกษตรหมู่บ้านโอยามา

-ความต่อเนื่องของผู้นำการเมืองท้องถิ่น ทำให้การผลักดันส่งเสริมหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ของจังหวัดโออิตะ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนประสบผลสำเร็จตามนโยบาย

บันทึกจากญี่ปุ่นเรื่องที่2

ผู้ว่าราชการจังหวัดโออิตะให้ความสำคัญของการพัฒนาคนให้มีคุณภาพ ได้ลงไปพบปะพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเผยแพร่แนวความคิด One Village One Product ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของตนเอง เปลี่ยนทัศนคติจากการพึ่งพา มาเป็นการพึ่ง ตนเอง มุ่งเน้นให้ประชาชนมีพลังในการคิดริเริ่มและมีส่วนร่วมในการคิดแก้ไขปัญหาของประชาชนเอง โดยขายความคิดใน 3 หลักการขั้นพื้นฐาน

กรมการพัฒนาชุมชน มีปรัชญา แนวความคิดพื้นฐาน หลักการพัฒนาชุมชนในระดับปฏิบัติ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานของ One Village One Product ของประเทศญี่ปุ่นอยู่แล้วกล่าวคือแนวความคิดพื้นฐานในการพัฒนาชุมชน ได้แก่ การมีส่วนร่วมของประชาชน การช่วยเหลือตนเอง ความคิดริเริ่มของประชาชนเอง ความต้องการของชุมชน และการศึกษาภาคชีวิต ด้านหลักการพัฒนาชุมชน ก็เน้นการ ปลูกฝังความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับประชาชนเอง ในการเข้ามามีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากรของท้องถิ่น ด้วยการช่วยตนเอง รัฐช่วยเหลือในส่วนที่เกินขีดความสามารถในด้านวิชาการและงบประมาณเท่าที่จำเป็น

บันทึกจากญี่ปุ่นเรื่องที่3

ความสำเร็จของนโยบาย One Village One Product ของประเทศญี่ปุ่น เป็นนโยบายของ ท้องถิ่น ซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นมาจากการเลือกตั้ง และนโยบายเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จึงให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของบุคลากร ส่งเสริมและสนับสนุนผู้นำชุมชน ที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เปลี่ยนทัศนคติของประชาชนจากการพึ่งพิง มาเป็นการช่วยตนเอง เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน การปลูกฝังให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นในการพึ่งตนเอง และการมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ก่อให้เกิดรายได้ เป็นปัจจัยที่ส่งผลให้คนมีคุณภาพ มีความรู้สึกเป็นเจ้าของ มีความรับผิดชอบสูง และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา จึงพบว่าผลิตภัณฑ์ที่ปรากฎในพิพิธภัณฑ์จึงเกิดจากผู้ผลิตที่ประกอบด้วยจิตวิญญาณ สั่งสม และสืบทอดมาจากบรรพบุรุษอย่างต่อเนื่องการบริหารจัดการ One Village One Product ขององค์กรชุมชนประเทศญี่ปุ่น เน้นคุณภาพ เครือข่าย และความรับผิดชอบของสมาชิก คือสหกรณ์การเกษตรโอยามา ผลผลิต และผลิตภัณฑ์ ที่ส่งเข้า สหกรณ์จะแข่งขันกันด้านคุณภาพ และมาตรฐาน โดยมีภาพถ่ายเจ้าของผู้ผลิต แสดงความเป็นเจ้าของ ซึ่งบ่งบอกถึงความรับผิดชอบต่อผลผลิต ตรงข้ามกับเกษตรไทยความสำเร็จของ One Village One Product ของประเทศญี่ปุ่น ประการสำคัญ คือ ชุมชนเป็นเจ้าภาพ โดยมีรัฐบาลท้องถิ่นให้การสนับสนุนช่วยเหลือในส่วนที่เกินขีดความสามารถ เช่น ช่วยเหลือด้าน วิชาการ (การวิจัย) ด้านมาตรฐาน คุณภาพของสินค้า เป็นต้น โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ควรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม ในการส่งเสริมสนับสนุน เป็นเจ้าภาพ โดยมีรัฐบาลเป็นเจ้ามือในส่วนที่เกินขีดความสามารถของท้องถิ่นนั้น ๆ ผ่านทางกระทรวง ทบวง กรมฯ ต่าง ๆ ตามบทบาทภารกิจของแต่ละกระทรวง เพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ จะช่วยลดความซ้ำซ้อนในการใช้งบประมาณ จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

************************

ถอดบันทึกโดย webmastercddchiangmai

 

Hosted by www.Geocities.ws

1