สรุปโดย หมอฟัน 1991   

                                                                    

    มนุษย์มีโรคหรือความผิดปกติ ที่ก่อให้เกิดความพิการ บริเวณศีรษะ คอ และช่องปาก มาแต่กำเนิดหลายโรคด้วยกัน ที่พบเห็นได้บ่อยคือ ความผิดปกติที่เรียกกันว่า "ปากแหว่ง เพดานโหว่"  ที่อาจร่วมหรือไม่ร่วมกับ ความผิดปกติประการอื่นๆ ของร่างกาย เราจะพยายามเรียบเรียงความผิดปกติต่างๆมาให้ทราบเป็นระยะ  ตอนนี้จะขอเริ่มด้วยเรื่อง ปากแหว่างเพดานโหว่ ก่อน

ปากแหว่งเพดานโหว่ [ Cleft Lip / /Cleft Palate ]

ความผิดปกติของคน ที่เรียกว่า ปากแหว่งเพดานโหว่ นั้นมีสาเหตุได้หลายประการ เช่น จากยีนส์ทีผิดปกติของบรรพบุรุษ จากการรบกวนของสารภายนอกร่างกาย เช่น ยาบางชนิด ที่แม่ได้เข้าไปขณะทารกในครรภ์ กำลังมีการสร้างอวัยวะโดยเฉพาะช่องปาก ขากรรไกร เป็นต้น

ปากแหว่งเพดานโหว่ ก็มีหลายลักษณะ กล่าวคือ มีปากแหว่งอย่างเดียวหรือ มีปากแหว่งร่วมกับเพดานโหว่

กรณีปากแหว่งนั้น อาจพบลักษณะแหว่งเพียงด้านใดด้านหนึ่ง หรือพบว่ามีรอยขาดของริมฝีปากบน ทั้งด้านซ้ายและด้านขวา และหากพบร่วมกับเพดานโหว่หรือเพดานปากขาดออกจากัน รอยขาดของริมฝีปากและเพดาน มักจะต่อเนื่องกันไป

กรณีเพดานโหว่นั้น เราอาจพบว่าเด็กมีเพดานโหว่ไม่ตลอด กล่าวคือ เพดานขาดเพียงบางส่วนเช่น เพดานแข็งซึ่งอยู่ทางด้านหน้าขาด แต่เพดานอ่อนไม่ขาด เป็นต้น หรือเราอาจเพดานขาดตลอดแนว ทั้งเพดานอ่อนและเพดานแข็ง

เด็กที่มีความผิดปกติแบบนี้ เราอาจพบว่า อวัยวะและระบบการทำงานอื่นๆในร่างกายมีความผิดปกติไปด้วย เช่น ศีรษะ ใบหู จมูก นัยน์ตา ระบบการทำงานของสมองเชื่องช้า พัฒนาการช้า ระบบสืบพันธุ์ผิดปกติ นิ้วมือนิ้วเท้า แขนขาผิดปกติ เป็นต้น

ผลจากความผิดปกติแบบปากแหว่งเพดานโหว่ ที่เกิดแก่คนไข้

1.ช่องปากและช่องจมูกต่อกันเป็นช่องเดียวโดยตรง

        ผลจากการที่ปากและจมูกต่อกันเช่นนี้ ทำให้สรีระวิทยาของทั้งสองช่องผิดปกติไปด้วย ทำให้สิ่งแวดล้อมในจมูกและปากผิดปกติไปจากที่ควรเป็น เชื้อจุลินทรีย์ปกติ ในช่องปาก อาจกลายเป็นเชื้อก่อโรคในช่องจมูกก็ได้ เป็นต้น เมื่อคนไข้ดื่มหรือกินอาหารเครื่องดื่มหรือเศษอาหารบางส่วน จะทะลักจากช่องปากเข้าช่องจมูก ทำให้คนไข้สำลักบ่อย นอกจากนี้จะเกิดการหมักหมมของเชื้อ เศษอาหาร น้ำลายบูดเน่าในช่องที่ขาด คนไข้จะมีน้ำมูกที่เน่าเหม็นเรื้อรัง อาจส่งผลให้คนไข้เบื่อต่อการกินอาหาร หรือได้อาหารไม่พอในกรณีที่เป็นเด็กทารก  ในเด็กทารกจะมีปัญหาการดูดนมมาก เพราะแรงดูดของช่องปากนั้น จะต้องมีภาวะที่ปิดสนิทรอบด้าน แปลว่าเพดาน ลิ้น ริมฝีปาก เพดานอ่อนหรือลิ้นไก่ จะต้องปิดสนิท ในขณะที่มีการดูด แต่เมื่อเพดานมีช่องขาดและริมฝีปากแหว่งปิดไม่สนิท เด็กทารกนั้นจะดูดไม่ได้หรือไม่เข้าคอเลย

        เมื่อเด็กเริ่มฝึกพูดในอายุประมาณ 1 ขวบปี หากเพดานยังขาดอยู่ แปละลิ้นไก่ที่ช่วยในการออกเสียบงบางอักษรนั้นไม่สมบูรณ์ เสียงที่ออกมาจะรั่วขึ้นจมูก กลายเป็นเสียงขึ้นจมูกไป จนกลายเป็นความเคยชินในการพูดแบบเสียงขึ้นจมูก อักษรบางตัวก็จะพูดไม่ชัด 

2.กระดูกขากรรไกร ฟัน เหงือก เพดาน มีการเจริญเติบโตที่ผิดเพี้ยนไป

        กระดูกขากรรไกรมนุษย์จะเติบโตอย่างต่อเนื่องจนถึงอายุประมาณ 15-18 ปี การเติบโตของขากรรไกรนอกจากจะขึ้นต่อคุณสมบัติของขากรรไกรคนนั้นแล้ว ยังขึ้นต่อปัจจัยภายนอกอีกด้วย เช่น แรงกระทำจากการเคี้ยว การดูด การดัน การกดไว้ของกล้ามเนื้อริมฝีปาก 

         ในกรณีของเพดานโหว่และปากแหว่ง ขากรรไกรบนขาดออกจากกันในส่วนของเพดาน ทำให้ทิศทางการเจริญเติบโตของขากรรไกรบนผิดไป กล้ามเนื้อริมฝีปากที่ช่วยพยุงเพดานส่วนหน้าไว้ ก็ทำไม่ได้ ทำให้เพดานส่วนหน้ายื่นยาวออกไปมากกว่าปกติ สัดส่วนความสมดุลย์ของการเจริญเติบโตระหว่างขากรรไกรบนและขากรรไกรล่างจะไม่ปกติ ขากรรไกรบนเจริญช้ากว่าขากรรไกรล่าง ทำให้ขากรรไกรล่างยื่นยาวออกมามากกว่า คนไข้เหล่านี้จึงมักดูเหมือนคนคางยื่นทั้งๆที่ขากรรไกรล่างไม่ได้ยื่น แต่ขากรรไกรบนโตไม่ดีเท่านั้น

3.ระบบการเคี้ยว กลืน กินอาหารผิดปกติไป

            เมื่อเครื่องมือในการเคี้ยว กลืนคือ ขากรรไกร ฟัน เพดาน ลิ้นไก่ ริมฝีปาก ผิดเปกติไป ย่อมมีผลทำให้การเคี้ยวและกลืนผิดปกติไปด้วย เรามักพบว่าคนไข้เหล่านี้เคี้ยวไม่ได้ดี ฟันสบกันไม่ดี สำลักอาหารบ่อย กลืนไม่ค่อยได้ 

4.การพูด การออกเสียงและบุคคลิก

           เช่นเดียวกับการเคี้ยวกลืน อุปกรณ์ในการออกเสียงและพูด คือเพดานแข็ง เพดานอ่อน ลิ้นไก่ บกพร่องไป ย่อมทำให้คนไข้มีความบกพร่องในการออกเสียง มีเสียงขึ้นจมูก เพราะเสียงจะรั่วออกทางช่องจมูก พูดบางคำไม่ชัดเพราะลิ้นไก่และเพดานอ่อนบกพร่อง หากไมทำการ่ฝึกพูดตั้งแต่เล็กๆ เมื่อโตขึ้นจะทำให้คนไข้พูดไม่ชัดตลอดไปได้

 ขั้นตอนการรักษาคนไข้ ปากแหว่งเพดานโหว่

   1.การรักษาปากแหว่ง

            ทำการผ่าตัดซ่อมแซมรอยแหว่งของริมฝีปาก เมื่อร่างกายของเด็กเล็กที่ปากแหว่งนั้นแข็งแรงพอ ประมาณ 3 เดือนหลังคลอด

   2.การรักษาเพดานโหว่

            ทำการเย็บปิดเพดานส่วนที่โหว่ เมื่อเด็กอายุประมาณ 1 ขวบ ซึ่งเป็นเวลาที่เริ่มพูด

   3.การช่วยดูดนมและการกลืน

            สถานบริการหลายแห่ง ได้คิดค้นขวดนมสำหรับเด็กที่มีปัญหาเหล่านี้ รวมทั้งการป้อนนมให้ไหลลงคอได้โดยมีการดูดน้อยที่สุด

            อย่างไรก็ดี ในคนไข้ที่โตแล้วอาจมีเครื่องมือปิดเพดานเพื่อลดโอกาสที่จะรั่วและทำให้การดูดมีประสิทธิภาพมากขึ้น เครื่องมือดังกล่าวยังอาจช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของกระดูกขากรรไกรบนบางส่วนได้ด้วย

   4.การช่วยควบคุมการเจริญเติบโตของขากรรไกรบน

           ในกรณีที่คนไข้มีปากแหว่ง และเพดานโหว่ซ้ายและขวา 2 ด้าน กระดูกเพดานแข็งด้านหน้าอาจยื่นออกมามากจนดันริมฝีปากบนส่วนที่แหว่ง ทำให้ความผิดปกติรุนแรงมากขึ้น กรณีนี้อาจต้องใช้เครื่องมือควบคุมที่เรียกว่าเครื่องมือเพดานตรึงกระดูกส่วนหน้าของเพดานแข็งไว้

   5.การแก้ไขปัญหาฟันและกระดูกเบ้าฟัน ด้วยการจัดฟัน

            โดยทั่วไป คนไข้ที่ปากแหว่งและเพดานโหว่ มักมีปัญหากระดูกขากรรไกร ร่วมกับปัญหาฟันเสมอ 

            การจัดฟัน โดยมีกระบวนการจัดฟันตั้งแต่เล็กๆ จนโตจะสามารถช่วยเหลือ ประคับประคองการเจริญเติบโตของกระดูกขากรรไกรบนและล่างได้ดีขึ้น อีกทั้งยังติดตามและช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเรื่องฟันได้ด้วย เมื่อคนไข้โตขึ้นประมาณ 9-11 ปี โดยคนไข้นั้นมีรอยขาดของเพดานและกระดูกเบ้าฟันด้วย หมอจัดฟันก็จะร่วมกับศัลยแพทย์ช่องปากทำการปลูกกระดูกเชื่อม ตรงกระดูกเบ้าฟันที่ขาดเข้าด้วยกัน

            จากนั้นเมื่อคนไข้อายุประมาณ 15 ปีขึ้นไป ก็จะทำการจัดฟันทั้งปาก เพื่อแก้ไขตำแหน่งฟันและการสบฟัน เพื่อเตรียมผ่าตัดแก้ไขกระดูกขากรรไกรบนและล่าง หรือกระดูกขากรรไกรบนหรือล่างอย่างเดียว ให้มีตำแหน่งโครงกระดูกที่ถูกต้อง

   6.การผ่าตัดปลูกกระดูกเพื่อเชื่อมต่อเพดานโหว่

           คนไข้ประเภทนี้ มีหลายคน ที่กระดูกเบ้าฟันด้านหน้าขาดออกจากกัน

            การที่กระดูกเบ้าฟันและเพดานขาดออกจากกัน ทำให้การเจริญเติบโตของขากรรไกรบนผิดไป นอกจากนั้นฟันแท้ประมาณ 2 ซี่คือ ฟันตัดเล็กและฟันเขี้ยวแท้ ก็จักขึ้นไม่ได้

            การปลูกเชื่อมกระดูกเบ้าฟันที่ขาดจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำ ในคนไข้เหล่านี้

            อายุคนไข้ที่เหมาะสมที่สุด สำหรับการปลูกกระดูก เพื่อเชื่อมต่อกระดูกที่ขาดหรือแหว่งไป คือ 9-11 ปี

   7.การฝึกพูด

            ในผู้ป่วยที่มีเพดานโหว่และลิ้นไก่ไม่สมบูรณ์ จำเป็นต้องทำการผ่าตัดซ่อมแซม เพื่อสร้างเครื่องมือในการออกเสียงแก่เด็กที่มีปัญหานี้ จากนั้นควรที่จะพบนักวิทยาศาสตร์ ที่เชี่ยวชาญในการฝึกพูด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ทำงานอยู่ที่ ภาควิชาหูคอจมูก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

   8.การผ่าตัดแก้ไขการผิดรูปของกระดูกขากรรไกร

            คนไข้ปากแหว่งเพดานโหว่หลายราย ที่มีการผิดรูปของขากรรไกร เมื่อโตขึ้นมาจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดแก้ไขใหม่ การผ่าตัดแก้ไขก็เพื่อที่จะให้ได้รูปหน้า คล้ายคนปกติทั่วไป ทำให้ขากรรไกรสามารถทำงานในระบบเคี้ยวอาหารได้ปกติ 

            การผ่าตัดเช่นนี้ เกือบทั้งหมดต้องได้รับการจัดฟันเสียก่อน เมื่อฟันได้ตำแหน่งที่ดีแล้ว จึงจะทำการผ่าตัดแก้ไขอีกครั้งหนึ่ง

   9.การใส่ฟันปลอม

            ภายหลังจากแก้ไขความผิดปกติทุกประการของคนไข้เรียบร้อยแล้ว  การใส่ฟันปลอมที่ดี จะเป็นขั้นตอนหรืองานสุดท้ายที่จะทำกัน ฟันปลอมที่จะใส่ให้คนไข้เหล่านี้ มีหลายลักษณะทั้งแบบถอดได้ ติดแน่น หรือฟันปลอมรากเทียม ( ดูเรื่องฟันปลอม )

ข้อพึงกระทำสำหรับผู้ปกครองและคนไข้เอง

   1.การช่วยดูดนม และกลืน

   2.การรักษาความสะอาด

   3.การเข้าใจช่วงเวลาและขั้นตอนการรักษา

   4.กำลังใจ

 

 

 กลับบ้านหน้าแรก / ประวัติคลินิก / รู้จักกับเรา / กายวิภาคช่องปาก / โรคช่องปากขากรรไกร / การรักษา / เครื่องมือดูแลสุขภาพช่องปาก / ท่านถามเราตอบ / สมัครสมาชิก / WEBSITE COMPUTER

Hosted by www.Geocities.ws

1