นางนาก

จุลศักราช ๑๒๓๐      ปีมะโรง สัมฤทธิศก ปลายแผ่นดิน
                         พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกิดสุริยคราสเต็มดวง   ร่ำลือว่า
                         จะเกิดอาเพศใหญ่   หลังจากนั้นไม่นาน   สยามประเทศ ก็ผลัดแผ่นดินเข้าสู่
                         รัชสมัยพระพุทธเจ้าหลวง

                                    ที่ตำบลบางพระโขนง   ที่ศาลาท่าน้ำ นายมาก ผู้ผัว
                         ถูกบาดหมายเกณฑ์เลขไพร่ ไปเป็นทหารที่บางกอก   กำลังร่ำลา นางนาก  
                         ซึ่งกำลังท้องอ่อนๆ   ด้วยความอาลัย ด้วยไม่รู้ว่า
                         เมื่อใดจะมีโอกาสได้กลับมาพบกันอีก
                         ยามที่เรือของผัวรักลับคุ้งน้ำ
                         นางนากได้แต่ร่ำไห้
                         ปิ่มว่าจะขาดใจ

                                    นายมากถูกเกณฑ์   ไปรบในสงครามปราบฮ่อ ณ สมรภูมิกันดาร
                         ได้รับบาดเจ็บสาหัส จึงถูกส่งไปรักษาตัวกับ สมเด็จพุฒาจารย์โต ที่วัดระฆัง

                                    ฝ่ายนางนากไม่ได้รับข่าวคราว จากผัวรักเลย   นับตั้งแต่จากกัน
                         ได้แต่เพียรมายืนรอผัว   ที่ท่าน้ำอยู่ทุกวัน
                         ขณะที่ครรถ์ก็ของนางก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

                                    จนล่วงเข้าเดือนที่ 9
                         นางนากเจ็บท้องจะคลอดลูก
                         ทิดอ่ำผู้เป็นเกลอนายมาก
                         เป็นธุระตามยายเอิบ หมอตำแยมาทำคลอด แต่ลูกในท้อง ก็หายอมออกมาไม่
                         นางนากเบ่งลูก ด้วยความเจ็บปวดทรมาน จนในที่สุด
                         ก็ขาดใจตายไป..ทั้งแม่และลูก

                                    ฝ่ายนายมาก เมื่อบาดแผลหายดีแล้ว ก็ให้เป็นห่วงเมีย จึงอำลาสมเด็จโต
                         กลับบ้านที่พระโขนง ระหว่างทาง นายมากให้ผิดสังเกตนัก
                         ด้วยทั่วทั้งบางพระโขนง เงียบเหงาผิดหูผิดตา ครั้นมาถึงที่ศาลาท่าน้ำ
                         ก็พบนางนากอุ้มลูกมายืนรอผัวอยู่ นายมากดีใจที่ได้พบลูกเมีย
                         โดยหาเฉลียวใจไม่ว่า เมียและลูกของตนนั้น เป็นผีที่หาชีวิตไม่แล้ว

                                    นายมาก อยู่กินกับผีนางนากฉันผัวเมีย โดยมิได้ระแคะระคายใดๆเลย
                         ผีนางนากนั้นก็เฝ้าปรนนิบัติผัว เฉกเช่นเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ ความรัก
                         ความอาลัยของนางนั้นยิ่งใหญ่
                         เกินกว่ากฏอนิจจัง
                         หากแต่นางนากเองก็สำเหนียกได้ว่า
                         เมื่อนายมากรู้ความจริงเข้าวันใด
                         วันนั้น สองผัวเมีย
                         จำต้องพรากจากกันชั่วนิรันดร์ 

                                    นางจึงทำทุกวิถีทาง เพื่อมิให้นายมากรู้ ขณะที่ชาวบ้านละแวกนั้น
                         เริ่มตายลงทีละคน รวมทั้งทิดอ่ำ ก็ตายลงอย่างลึกลับ     
                         เสียงร่ำลือถึงอิทธิฤทธิ์ผีนางนาก ก็ระบือไปทั่งบางพระโขนง
                         จนไม่มีใครกล้าออกไปไหนเลยในเวลากลางคืน
                         ทั่วทั้งบางตกอยู่ในความสะพรึงกลัว

                                    และแล้ว. . . คืนที่นายมากรู้ความจริงก็มาถึง
                         เมื่อนางนากเผลอทำลูกมะนาว ตกลงใต้ถุนเรือน
                         นายมากแอบเห็นเมียแสดงอิทธิฤทธิ์ ยื่นมือยาวลงไปเก็บผลมะนาวนั่น
                         ก็รู้ทันทีว่า เมียของตนเป็นผี นายมากตกใจกลัว จึงหนีไปซ่อนตัวที่วัดมหาบุด

                                    เวลานั้นญาติทิดอ่ำ ผู้โกรธแค้นได้ยกพวก มาเผาเรือนนางนาก
                         ผีนางนากจึงปรากฏตัวขึ้น
                         และอาละวาดฆ่าคนตายไปมากมาย
                         ก่อนจะออกติดตามผัวไปถึงวัดมหาบุด
                         จนพระเณรแตกตื่นตกใจกันไปทั่ว ร้อนถึงสมเด็จโตวัดระฆัง
                         ต้องเดินทางมาปราบ และ
                         ปะทะกับฤทธิ์เดชของนางนาก

                                   นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ก็ไม่มีใครได้ยินข่าว
                         ผีนางนากออกอาละวาดอีกเลย ส่วนนายมาก ได้บวชอุทิศส่วนกุศล
                         ให้แก่เมียรักในสัมปรายภพ เหลือไว้แต่เพียงเรื่องเล่าขาน ถึงความรัก
                         ความภักดี ที่มีต่อผัวของนางนาก . . . . . ตราบจนทุกวันนี้ 

ณ หน้านี้ จะบอกเล่า เรื่องราว และเกร็ดพงศาวดาร
                         รวมไปถึงข้อเท็จจริงของ นางนาก รวมไปถึงเหตุการณ์ต่างๆ
                         ที่สืบขานมาเป็นตำนานจนถึงปัจจุบันนี้

                                   ขอเริ่มจาก ปากคำสัมภาษณ์คุณ เอนก นาวิกมูล
                         ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสยามโบราณ และ กรุงรัตนโกสินทร์
                         ทีไ่ด้กรุณาให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสาร Cinemag
                         โดยขอยกรายละเอียดมากล่าวโดยย่อให้ฟังดังนี้

                         "เรื่องของแม่นาก เป็นเรื่องเล่า ก่อนหน้าหนังก็จะมีลำตัดมาก่อน เพลงฉ่อย
                         หรือ เพลงทรงเครื่องก็เคยเล่นมาแล้ว ตั้งแต่ช่วง พ.ศ. ๒๔๘๐
                         ซึ่งก็ใกล้เคียงกับหนัง หรืออาจจะก่อนหนังนิดหน่อย นอกจากนี้
                         ยังมีนิยายคำลอน และมีนิยายที่เขียนอย่างยาว"

                         "สำหรับตัวนางนาก คงจะมีจริง ผมเคยเขียนไปแล้วใน 'แกะรอยเรื่องเก่า'
                         เรื่องนี้เป็นเรื่องร่ำลือมานาน เช็คปีตามที่สมเด็จฯ
                         กรมพระยาดำรงราชานุภาพท่านว่าเอาไว้ - เรื่องนี้ผมอ่านจากที่ ม.จ.หญิง
                         พูนพิศมัย ดิศกุล ท่านเขียนไว้ในหนังสือพระประวัติสมเด็จฯ
                         กรมพระยาดำรงราชานุภาพ คือบิดาของท่าน เขียนว่าสมัยที่สมเด็จฯยังหนุ่ม
                         และคอยดูแลเกี่ยวกับวังอยู่ สักประมาณปี ๒๔๒๐ กว่าๆ
                         ได้มีการสอบถามจากคนที่เดินเข้าออกวังว่า บุคคลต่อไปนี้ (รัชกาลที ่๑,
                         สมเด็จพระพุฒาจารย์โต, อีนากพระโขนง) คนทั่วไปรู้จักใครมากที่สุด
                         ก็ปรากฎว่าเป็น "อีนากพระโขนง" แสดงว่าช่วงปีนั้น
                         ชื่อเสียงแม่นากก็โด่งดังมากแล้ว และเรื่องแม่นาก ก็ควรจะเกิดในช่วง ..
                         ถ้าไม่ใช่รัชกาลที่ ๓ ก็รัชกาลที่ ๔ หรือไม่ก็ต้นรัชกาลที่ ๕ เป็นอย่างช้า
                         แต่อย่าลืมว่าช่วงเวลาเหล่านี้ก็เพียงแค่ ๓๐-๔๐ ปีเอง"

                         "สำหรับชื่อต้องเรียกนำว่า "อำแดง" แต่ถ้าหนังสือต่างๆก็จะเรียก
                         'อีนากพระโขนง' และใช้ ก. สะกด ที่มาเขียน ค. นี่เป็นยุคหลังเท่านั้นเอง
                         ก็ควรจะเป็น นาก เงิน ทอง แต่ไม่น่าจะเป็น นาค เพราะหมายถึง นาคะ
                         พอมาใส่ ค. เข้าทีหลังนี่ก็เลยติด น่าจะมาจากภาพยนตร์หรือ
                         หนังสือบางเล่มนี่แหละ แต่ก่อนก็ใช้ ก. ทั้งนั้นเลย"

                         นั่นคือคำสัมภาษณ์ของคุณ เอนก นาวิกมูล เกี่ยวกับตำนาน "นางนาก"
                         และโอกาสต่อๆไป จะนำเสนอข้อมูล เรื่องราวในด้านอื่นๆอีก
                         ขอเชิญติดตามต่อไป
Hosted by www.Geocities.ws

1