หมู่บ้านคำนางปุ่ม หมู่ที่  11  มีโรงเรียน  1 แห่ง คือโรงเรียนบ้านคำนางปุ่ม เปิดสอนในระดับ ป.1 – ป.6   และมีศูนย์พัฒนาเล็ก 1 แห่ง คือ  ศูนย์พัฒนาเล็ก อบต.เขาสวนกวาง สังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลเขาสวนกวาง (เดิมทีเป็นศูนย์อบรมเด็กก่อนเกณฑ์ในวัดบัวระพา บ้านคำนางปุ่ม สังกัดกรมการศาสนา ซึ่งก่อตั้งโดย ท่านพระครูญาณสารโสภณ ต่อมาจึงถ่ายโอนมาให้ อปท.ดูแลรับผิดชอบร่วมกัน)  เปิดสอนในระดับปฐมวัย อายุ 3 – 6  ปี  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้การอบรมเลี้ยงดู  และช่วย เสริมสร้างพัฒนาการในด้านต่างๆ ให้กับเด็ก  และยังช่วยแบ่งเบาภาระหน้าที่ให้กับผู้ปกครองของเด็กในการประกอบสัมมาอาชีพด้วย  
สถานศึกษาทั้ง 2  แห่ง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่บ้านคำนางปุ่ม  ส่วนการศึกษาระดับสูงขึ้นไปจะต้องไปเรียนที่อำเภอเขาสวนกวาง โดยจะเปิดสอนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6  คือโรงเรียนเขาสวนกวางวิทยานุกูล  อำเภอเขาสวนกวาง ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 3 กิโลเมตร นักเรียนส่วนใหญ่เดินทางโดยมีรถจักรยานยนต์ รถยนต์ส่วนตัว รถรับจ้าง สามล้อเครื่อง ฯลฯ ตามความสะดวก

   

             ปัจจุบัน  ประชากรในหมู่บ้านส่วนใหญ่  จบการศึกษาขั้นต่ำระดับ ม.3 และมีโครงการส่งเสริมให้ชาวบ้านที่มีการศึกษาต่ำกว่าระดับ ป.6 จะต้องศึกษาต่อให้จบชั้น ป.6 ในศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเขาสวนกวาง  งบประมาณด้านการศึกษาในเขตชุมชนนี้จะได้จากผู้ปกครองของเด็กนักเรียน และงบสนับสนุนในด้านต่างๆ จากทั้งภาครัฐและเอกชน  ซึ่งงบประมาณ จะให้ในรูปแบบของเงินบริจาค  เงินสนับสนุน  และทุนการศึกษา 
ในด้านการศึกษา ณ ปัจจุบัน  ภารกิจสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง  ที่ต้องเร่งดำเนินการคือ การส่งเสริมให้คนในหมู่บ้านเห็นความสำคัญของการศึกษาให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน การสร้างความตระหนักและค่านิยมในเรื่องความสำคัญและจำเป็นที่ต้องได้รับการศึกษา หรือการส่งเสริมเรื่องทุนการศึกษา  ในระยะยาวจนถึงระดับปริญญาตรี  เพื่อให้กลับมาประกอบอาชีพในชุมชน และเป็นแกนนำด้านการศึกษาต่อไป  หรือให้ความรู้   และแนะนำด้านการศึกษาต่อ  ในระดับสูงต่อไปแก่ประชากรในหมู่บ้าน

 


           ชาวบ้านคำนางปุ่ม  หมู่ที่  3 กับหมู่ 11  ทุกคนนับถือศาสนาพุทธ  มีวัดบัวระพา  ที่เป็นสิ่งยึดเหนียวจิตใจและเป็นศาสนสถานของหมู่บ้าน ในการใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและกิจกรรมอื่นๆ  โดยมี ท่านพระครูญาณสารโสภณ   เป็นเจ้าอาวาส  ปัจจุบันมีพระจำพรรษาในวัด  จำนวน 4  รูป  เป็นวัดมหานิกาย  การเข้าไปมีส่วนร่วมของคนในหมู่บ้านในการพัฒนาวัด มีคณะกรรมการหมู่บ้าน มรรคทายก-ทายิกา  และประชาชน ที่ได้ร่วมมือร่วมใจช่วยกันทำนุบำรุง รักษา สืบสาน  ขนบธรรมเนียม ประเพณี  วัฒนธรรมต่างๆ  และพิธีการทางศาสนา เป็นประจำและสม่ำเสมอ

 

          ชาวบ้านคำนางปุ่ม  หมู่ที่  11 ปฏิบัติตนตามธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมาตามประเพณีไทยอีสาน คือประเพณีฮีต  12  ครอง 14   ได้แก่ 

เดือนอ้าย  
-ประเพณีปีใหม่ 
เดือนยี่    
-ประเพณีบุญเข้ากรรม 
เดือนสาม
-ประเพณีบุญข้าวจี่ 
เดือนสี่ 
-ประเพณีบุญผะเหวด 
เดือนห้า
-ประเพณีสงกรานต์ 
เดือนหก  
-ประเพณีบุญบั้งไฟ, 
-บุญเบิกบ้าน 
-บุญเลี้ยงปู่ตา 
เดือนเจ็ด
-ประเพณีเบิกฟ้า 
เดือนแปด 
-ประเพณีเข้าพรรษา 
เดือนเก้า 
-ประเพณีข้าวประดับดิน 
เดือนสิบ   
-บุญข้าวสาก
เดือนสิบเอ็ด
-ประเพณีออกพรรษา 
เดือนสิบสอง
-ประเพณีลอยกระทง