เผยแพร่ใน  น.ส.พ.กสิกร  ปีที่ 74 ฉบับที่ 5  ก.ย-ต.ค 2544

ใช้...ปุ๋ยเคมี

เพิ่มผลผลิต...ข้าว

พิสิฐ พรหมนารท

          กลุ่มปรับปรุงการผลิต  ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี

__________________________

 

ในสมัยก่อนนั้นชาวนาปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองมีลักษณะต้นสูง  ไวแสง  อายุยาว  และให้ผลผลิตต่ำ 160 – 320  กก./ไร่    ธาตุอาหารที่เป็นองค์ประกอบของเมล็ดข้าวเปลือกและฟางข้าวบางส่วนที่ถูกนำออกไปจากดินนาจะถูกทดแทนได้ตามธรรมชาติจากหลายแหล่งคือ 1. การสลายตัวของวัตถุต้นกำเนิดดิน (Soil  minerals)  2. ธาตุอาหารอยู่ในน้ำชลประทานและน้ำฝน  3. กิจกรรมของจุลินทรีย์ดินต่าง ๆ (Soil  micro-organisms activity)  (Uexkull, 1976) ตัวอย่างเช่นสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน และ  Free living N fixing microorganism  การปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองในสมัยก่อนจึงได้ผลผลิตต่ำแต่ยั่งยืนอยู่ได้โดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยใด ๆ เลย   ยังมีกิจกรรมของสิ่งมีชีวิตจำพวกสัตว์ที่มีเป็นจำนวนมากในระบบนิเวศของข้าว  สัตว์ชั้นต่ำแมลงและแมงซึ่งมีขนาดเล็กอาศัยอยู่ในน้ำ  สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์น้ำประเภทต่าง ๆ  ที่กินเศษซากพืชไปจนถึงกินสัตว์ด้วยกันเป็นอาหาร  เมื่อสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ตายลงไปย่อมจะเน่าเปื่อยและย่อยสลายไปเป็นธาตุอาหารชนิดต่าง ๆ ให้แก่พืชได้เช่นกัน 

ปุ๋ยเคมีเพิ่มผลผลิตข้าวพันธุ์พื้นเมืองได้เพียงเล็กน้อยในทางกลับกันปุ๋ยเคมีที่ให้ธาตุไนโตรเจนเพียง  3.2 – 6.4  กก.N/ไร่  อาจทำให้ข้าวพันธุ์พื้นเมืองล้มและผลผลิตเสียหาย  (Uexkull, 1976)  ปุ๋ยเคมีให้ธาตุอาหารพืชที่เข้มข้น  นำมาใช้เพิ่มผลผลิตข้าวพันธุ์ใหม่ที่ถูกปรับปรุงพันธุ์ให้มีลักษณะต้นเตี้ย  ใบตั้งตรง  อายุสั้นและสามารถให้ผลผลิตได้สูงกว่าพันธุ์พื้นเมืองเมื่อมีธาตุอาหารที่พอเพียง   โดยเฉพาะอย่างยิ่งธาตุไนโตรเจน 

ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าพันธุ์พื้นเมืองที่ให้ผลผลิตอยู่ในเกณฑ์ต่ำ  ธาตุอาหารที่ถูกใช้ไปจึงได้รับการทดแทนจากธรรมชาติได้ทันก่อนที่จะเริ่มการทำนาในปีต่อไป   แต่เมื่อมีการนำข้าวพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงขึ้นและมีการปลูกมากกว่า 1 ครั้งต่อปี  ธาตุอาหารที่ถูกนำออกไปจากดินนาไม่สามารถทดแทนได้ตามธรรมชาติด้วยเหตุผลของปริมาณที่ถูกนำออกไปในช่วงเวลาอันสั้นและช่วงเวลาที่ดินนาจะฟื้นตัวตามธรรมชาติมีน้อยกว่าเดิม  ชาวนาจึงต้องมีการนำธาตุอาหารมาเพิ่มเติมให้แก่ดิน  เพื่อให้พันธุ์ข้าวสามารถให้ผลผลิตได้ตามศักยภาพและให้ผลผลิตคงอยู่ในระดับเดิมได้  แม้การปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองหรือพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตไม่สูงนัก  400-600   กก./ไร่  ก็ยังมีความจำเป็นต้องใส่ปุ๋ยจึงจะได้ผลผลิตที่น่าพอใจ   เนื่องจากการทำนาในปัจจุบันนี้การดำเนินการหลายอย่างที่ทำให้วงจรธาตุอาหารพืชไม่สมดุล  เช่นการเผาฟางข้าวก่อนการทำนาซึ่งเป็นการทำลายอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารพืช การเผาฟางจะทำให้สูญเสียไนโตรเจนที่เป็นองค์ประกอบเกือบทั้งหมดฟอสฟอรัสสูญเสีย 25  % โปแตสเซียม 20 % (Dobermann and Fairhurst, 2000  และ ประเสริฐ, 2543) ธาตุฟอสฟอรัสและโปแตสเซียมแม้จะเหลืออยู่ในขี้เถ้าเป็นส่วนใหญ่  แต่ถ้าหากการเผาเป็นกองใหญ่ธาตุอาหารที่เหลือก็จะถูกกองอยู่จุดเดียว  ซ้ำร้ายหากไม่ไถกลบขี้เถ้าก็จะถูกลมพัดออกไปจากพื้นนาดังที่เกิดขึ้นเป็นประจำในพื้นที่ข้าวขึ้นน้ำ การใช้รถไถนาแทนวัวควายที่จะอาศัยกินฟางข้าวในหน้าแล้งที่ขาดแคลนหญ้าสด  ฟางข้าวส่วนหนึ่งที่จะถูกกินและเปลี่ยนรูปมาเป็นปุ๋ยคอกและคืนธาตุอาหารลงสู่ดิน  แต่เมื่อไม่มีวัวควายที่จะกินฟางข้าวและฟางที่เหลืออยู่ในนาก็ไม่ได้เน่าเปื่อยคืนธาตุอาหารลงไปในนา  แต่ถูกเผาทำลายเพราะมีมากเกินไปจนชาวนาไม่สามารถทำการไถพรวนได้สะดวก  การใช้สารเคมีในการผลิตข้าวซึ่งต้องมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ  ทั้งพืชและสัตว์ที่มีประโยชน์ดังได้กล่าวมาแล้ว  ตลอดจนการสร้างถนน ฝาย พนังกั้นน้ำ และเขื่อน  และการตัดไม้ทำลายป่าซึ่งจะมีผลต่อการชะล้างอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารที่มีประโยชน์มากับน้ำ (สรสิทธิ์, 2535)  ความเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้จึงเป็นสาเหตุให้การทดแทนธาตุอาหารตามธรรมชาติไม่เพียงพอที่จะให้ผลผลิตดีได้เหมือนเดิม

การผลิตข้าวเปลือก  1,000  กก ต้นข้าวจะดูดซับเอาธาตุอาหารไปดังนี้  ไนโตรเจน  16.6 –17.5  กก. N     ฟอสฟอรัส  3.0 - 3.8  กก. P   โปแตสเซียม  17.0 - 22.2 กก. K (Dobermann and Fairhurst, 2000 และ Uexkull, 1976) ธาตุอาหารหลักสามตัวนี้ข้าวต้องการในปริมาณมาก  และมักมีอยู่ในดินไม่เพียงพอ  การจัดการให้มีธาตุอาหารที่ถูกต้องแก่ต้นข้าวจึงมีความสำคัญที่จะส่งเสริมให้ได้ผลผลิตข้าวตามความต้องการ 

 

1.      บทบาทและความต้องการธาตุอาหารหลักของข้าว

บทบาทของธาตุอาหารและความต้องการของข้าวจะต้องสอดคล้องกันอันจะนำไปสู่การให้ผลผลิตมากน้อยตามความต้องการ  ซึ่งผลผลิตที่จะได้ขึ้นอยู่กับศักยภาพการให้ผลผลิตของพันธุ์ข้าว  ฤดูกาล (แสงอาทิตย์  อุณหภูมิ)  และการให้ธาตุอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของข้าว 

1.1 ไนโตรเจน

ไนโตรเจนกระตุ้นทุกระยะของการเจริญเติบโต  แต่ในระยะหลังแตกกอสูงสุดไปจนถึงก่อนสร้างรวงอ่อนไม่ควรให้ข้าวได้รับไนโตรเจนมากเกินไปเพราะจะทำให้เฝือใบเกิดการบังแสงกันเองอ่อนแอต่อโรค  โดยทั่วไปไนโตรเจนในดินนามักขาดยกเว้นดินที่อุดมสมบรูณ์สูงมีอินทรีย์วัตถุและกิจกรรมของจุลินทรีย์สูง  ดินที่มีอินทรีย์วัตถุ 2 % จะปลดปล่อยไนโตรเจน  14.4  กก./ไร่  แต่ดินในประเทศไทยที่มีอินทรีย์วัตถุ 2 % ขึ้นไปมีเพียง 13  % ของพื้นที่ทั้งหมด (กลุ่มอินทรีย์วัตถุและวัสดุเหลือใช้, 2540)  อภิรดี (2542)  ก็ได้รายงานว่าจากการวิเคราะห์ดินทั่วประเทศ 17,749 ตัวอย่าง  มีอินทรีย์วัตถุต่ำปานกลางถึงต่ำมาก  (0.5-1.5 %) อยู่ถึง 64 % จึงคาดหวังไว้ก่อนว่าดินนามีไนโตรเจนต่ำ  ผลผลิตข้าว  800-1,120 กก./ไร่  ต้องการไนโตรเจนสูงถึง  12.8-24.0  กก.N/ไร่  ซึ่งเทียบเท่าได้กับปุ๋ยเคมี   16-20-0  อัตรากว่า 100 กก./ไร่  โดยความเป็นจริงชาวนาบางส่วนที่ปลูกข้าวด้วยพันธุ์ High Yielding Variety  ใช้ปุ๋ยอัตราสูงใกล้เคียงจำนวนนี้อยู่แล้ว

 

1.2  ฟอสฟอรัส

ฟอสฟอรัสกระตุ้นการเจริญเติบโตควบคู่ไปกับไนโตรเจน  แต่ข้าวต้องการในช่วงแรกเท่านั้น  ซึ่งมีผลต่อการแตกกอและพัฒนาการของใบ  ฟอสฟอรัสในดินนาก็อยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก สรสิทธิ์  (2535) รายงานว่าในดินนาทั่วไปมีฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์อยู่ในระดับต่ำประมาณ 7  ppm. ส่วนดินนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีในระดับต่ำมากคือประมาณ 3 ppm. ไลวรรณ (2542) ได้รายงานผลการวิเคราะห์ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ของดินทั่วประเทศตั้งแต่ปี 2533-37 พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออกและภาคใต้มีฟอสฟอรัสอยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก  41.8 % 51.1 % และ 42.2 % ตามลำดับ  ส่วนภาคเหนือและภาคกลางมีฟอสฟอรัสอยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก  36.5 % และ 32.9 %  ดังนั้นจึงต้องให้ฟอสฟอรัสเพียงพอกับความต้องการของข้าวและเป้าหมายการผลิต  หากดินไม่มีปัญหาเรื่องการยึดฟอสฟอรัสที่มักเกิดในดินกรด  หากตั้งเป้าหมายการผลิตไว้ที่  800-1,120 กก./ไร่  ต้องใส่  5.5-11.0 กก.P/ไร่  ซึ่งเทียบเท่ากับปุ๋ยเคมีสูตร 16-20-0 อัตรา  63-126 กก./ไร่  หรือสูตร     16-16-8  อัตรา  79-158  กก./ไร่   หากมีปัญหาดินเป็นกรดโดยใส่ปูนมารล์ด้วยจึงจะใช้ปุ๋ยได้ผล

1.3  โปแตสเซียม 

ส่วนโปแตสเซียมนั้นข้าวมีความต้องการไปตั้งแต่ช่วงแรกของการเจริญเติบโตไปจนถึงเก็บเกี่ยว  แต่โปแตสเซียมที่สูงเกินไปในช่วงแรกจะทำให้ระดับของไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในข้าวต่ำลงมีผลให้ข้าวแตกกอน้อยลง  เนื่องจากโปแตสเซียมมีผลต่อการเคลื่อนย้ายแป้งและน้ำตาล  ข้าวจึงมีความต้องการมากในช่วงเริ่มสร้างรวงเป็นต้นไปจนถึงเก็บเกี่ยว  โปแตสเซียมยังช่วยให้ข้าวต้านทานโรค  แมลงและการล้ม  และมีผลต่อองค์ประกอบผลผลิตทุกส่วนยกเว้นการแตกกอ  ดินนาโดยทั่วไปมีโปแตสเซียมที่เป็นประโยชน์อยู่สูง  134  ppm. (สรสิทธิ์, 2535)  แต่เนื่องจากชาวนาปลูกข้าวอย่างเข้มข้นต่อเนื่องกันหลายปี  และชาวนาไม่ได้ทดแทนธาตุตัวนี้ให้แก่ดินนา จะเห็นได้จากคำแนะนำการใส่ปุ๋ยเคมีในนาดินเหนียวทั่วประเทศคือ  16-20-0 เป็นปุ๋ยรองพื้น  และ 46-0-0 เป็นปุ๋ยครั้งที่ 2 ระยะกำเนิดรวง  อีกทั้งมีการเผาฟางทิ้งเพราะไม่สามารถรอให้ฟางเน่าเปื่อยซึ่งใช้เวลาระยะหนึ่ง ดินนาจึงสูญเสียโปแตสเซียมที่อยู่ในฟางข้าวอีกอย่างน้อย 20 % และแม้จะมีการทำนาเพียงครั้งเดียวก็ยังมีการเผาฟางทิ้งในหลายพื้นที่  โปแตสเซียมที่มีเหลืออยู่ในขี้เถ้าก็จะสูญเสียไปกับลมหากเผาแล้วดินนาแห้งและมีลมพัด  ทำให้โปแตสเซียมในดินน้อยลงไปอีก 

ดินนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือภาคเหนือและส่วนอื่นๆ ของประเทศไทยที่เป็นดินร่วนและดินทรายจะมีโปแตสเซียมที่เป็นประโยชน์ต่ำ  สรสิทธิ์ (2535) รายงานว่าโปแตสเซียมที่เป็นประโยชน์ในดินนาภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเฉลี่ย  47   ppm.    อภิรดี (2542) ได้รายงานผลการวิเคราะห์ดินทั่วประเทศ 17,749 ตัวอย่างพบว่าดินมีโปแตสเซียมที่เป็นประโยชน์ต่ำถึงต่ำมากคือเท่ากับหรือน้อยกว่า  60 ppm.ลงไปมีถึง  48.5 %  นพรัตน์ และคณะ (2541) ศึกษาศักยภาพการผลิตดินนาภาคเหนือตอนบนส่วนใหญ่เป็นดินร่วนและดินทรายพบว่าดินส่วนใหญ่มีโปแตสเซียมที่เป็นประโยชน์ต่ำ 14-44 ppm.

 

2.  การปรับสัดส่วนธาตุอาหารหลักเพื่อการผลิตข้าว

คำแนะนำการใส่ปุ๋ยเคมีในนาดินทรายคือสูตร  16-16-8  เป็นปุ๋ยรองพื้น  และ  46-0-0  เป็นปุ๋ยระยะเริ่มสร้างรวงอ่อน (กลุ่มงานวิจัยความอุดมสมบูรณ์ของดินและปุ๋ยข้าวและธัญพืชเมืองหนาว 2539) โดยสัดส่วนของธาตุอาหารหลักที่ถูกนำออกไปจากนาโดยข้าวเปลือกและฟางข้าวคือ  5.8-1-5.7  N-P-K (Dobermann and Fairhurst,  2000)  คำแนะนำการใส่ปุ๋ยนี้จึงไม่น่าจะถูกต้อง  ในดินที่ถือว่ามีโปแตสเซียมต่ำคือในดินทรายกลับให้ใส่ในสัดส่วนเพียงครึ่งของธาตุไนโตรเจนและฟอสฟอรัสสำหรับการใส่เป็นปุ๋ยรองพื้นเพียงครั้งเดียว  ข้าวต้องการโปแตสเซียมสูงในช่วงก่อนเล็กน้อยหรือที่ระยะกำเนิดรวง  ประกอบกับดินที่มีเนื้อหยาบมีองค์ประกอบของดินทรายเป็นหลักนั้น  ไม่มีความสามารถในการเกาะยึดโปแตสเซียมแล้วปลดปล่อยออกมาช้า ๆ เหมือนในดินเหนียว  ดังนั้นการใส่ปุ๋ยโปแตสเซียมในนาดินทรายน่าจะแบ่งใส่ในระยะกำเนิดรวงและใส่ให้มากกว่าสัดส่วนเดิม  น่าจะเป็นหนทางที่จะเพิ่มผลผลิตและป้องกันโรคแมลงด้วย  ในกรณีที่โปแตสเซียมมีอยู่ในดินบ้างพอสมควรแล้วข้าวก็อาจขาดโปแตสเซียมในช่วงหลังการแตกกอสูงสุด  เนื่องจากความเป็นประโยชน์ของโปแตสเซียมจะมีมากเมื่อมีสภาพน้ำขังและจะหมดไปอย่างรวดเร็วเนื่องจากการดูดซับของข้าวในช่วงแรกและการที่ความเป็นประโยชน์ของโปแตสเซียมลดลงในสภาพดินนาน้ำขังและขาดออกซิเจนนาน ๆ (Kemmler, 1980)  ความเป็นประโยชน์ของโปแตสเซียมจึงอาจหมดไปก่อนที่จะถึงระยะเริ่มสร้างรวงอ่อน 

งานวิจัยที่ผ่านมาอาจไม่แสดงออกถึงการตอบสนองต่อโปแตสเซียมของข้าวด้วยเหตุผลหลายประการ การใส่โปแตสเซียมไปพร้อมกับไนโตรเจนและฟอสฟอรัสเป็นปุ๋ยรองพื้นเพียงครั้งเดียวนั้น  โปแตสเซียมไม่เพียงมีมากในช่วงแรกและหมดไปก่อนที่จะถึงเวลาที่ต้องการมากในช่วงกำเนิดรวง   แต่โปแตสเซียมยังให้ผลในทางลบคือดินที่ขาดไนโตรเจนและฟอสฟอรัสหากเพิ่มโปแตสเซียมเข้าไปอีกจะทำให้ข้าวลดการแตกกอ (Uexkull, 1976)  และชาวนาไทยก็ไม่ได้ใส่ไนโตรเจนและฟอสฟอรัสในปริมาณที่มากพอกับความต้องการและศักยภาพการให้ผลผลิตของข้าวอีกด้วย 

จากการพบปะกับเกษตรกรที่มารับการฝึกอบรมและเกษตรกรในโครงการส่งเสริมการปลูกข้าวของโครงการพระราชดำริ  ผู้เขียนพบว่าเกษตรกรที่ทดลองใช้ปุ๋ยเคมีสูตร  15-15-15  เป็นทั้งปุ๋ยรองพื้นและปุ๋ยระยะกำเนิดรวงให้ผลผลิตดีกว่าปุ๋ยสูตรที่ทางกองปฐพีวิทยาแนะนำ  ดังนั้นชาวนาควรทดลองปรับเปลี่ยนสัดส่วนของธาตุอาหารตามหลักการที่กล่าวมาข้างต้น  โดยอาจใช้ปุ๋ย  16-16-8 เป็นปุ๋ยรองพื้น  แต่ในช่วงสร้างรวงให้ใส่ปุ๋ยโปแตสเซียม  0-0-60  ไปพร้อมกับปุ๋ยยูเรีย 46-0-0  ที่ใช้อยู่แล้ว  ปุ๋ยโปแตสเซียมคลอไรด์  0-0-60  นั้น  ถูกนำมาใช้ในโครงการผสมปุ๋ยเคมีใช้เองที่ดำเนินการร่วมกันระหว่างกรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมสหกรณ์จึงไม่น่าเป็นปัญหาสำหรับการที่จะจัดหามาใช้  โดยการซื้อผ่านสหกรณ์การเกษตรทั่วไป  ร้านค้าวัสดุการเกษตรบางแห่งได้นำปุ๋ยนี้มาจำหน่ายแล้ว

 

เอกสารอ้างอิง

กลุ่มงานวิจัยความอุดมสมบูรณ์ของดินและปุ๋ยข้าวและธัญพืชเมืองหนาว กองปฐพีวิทยา. 2539.   คำแนะนำปุ๋ยข้าวและธัญพืชเมืองหนาว. กรมวิชาการเกษตร. กทม. 47 หน้า.

กลุ่มอินทรียวัตถุและวัสดุเหลือใช้  กองอนุรักษ์ดินและน้ำ. 2540.  การปรับปรุงบำรุงดินด้วยอินทรียวัตถุกรมพัฒนาที่ดิน  178  หน้า.

ประเสริฐ  สองเมือง.  2543.  การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในนาข้าวกรมวิชาการเกษตร.  84  หน้า.

สรสิทธิ์  วัชโรทยาน.  2535.  ปุ๋ยกับการพัฒนาการเกษตรที่ระลึกครบรอบวันเกิด  60 ปี  ศ.ดร. สรสิทธิ์  วัชโรทยาน.  104 หน้า

นพรัตน์  ม่วงประเสริฐ  สิรี  สุวรรณเขตนิคม  สมพงษ์  พงศ์วุฒิ  มงคล  มั่นเหมาะ  และอภิชาติ  เนินพลับ.  2541.  การศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการผลิตและคุณภาพข้าวขาวดอกมะลิ 105 ในเขตภาคเหนือตอนบน.   ผลงานวิจัยข้าวและธัญพืชเมืองหนาว  เรื่องเต็ม ปี 2539 (ปี 2535-2539) ศูนย์วิจัยข้าวแพร่ และสถานีทดลองเครือข่าย. หน้า 821-838.

ไลวรรณ  อังคีรส.  2542.  ฟอสฟอรัสของดินในประเทศไทยผลงานวิจัยกรมพัฒนาที่ดินปี 2535-2538. กรมพัฒนาที่ดิน  กทม.

อภิรดี  อิ่มเอิบ.  2542.  ศักยภาพในการผลิตของดินในประเทศไทย.  ผลงานวิจัยกรมพัฒนาที่ดิน  2535-2538  กรมพัฒนาที่ดิน  กทม.

Dobermann, A. and T. Fairhurst  2000.  Rice Nutrient Disorders & Nutrient Management. Oxford Graphic Printers Pte Ltd.   191 pp.

Kemmler, G. 1980.  Potassium deficiency in soils  of the tropics as a constraint to food production in Priorities for Alleviating. In Soil-Related constraints to Food Production in the Tropics    IRRI  p. 253 – 275

von Uexkull, H.R. 1976.  Aspects of  Fertilizer  Use in Modern, High-Yield Rice Culture  IPI-Bulletin 3.  International Potash Institute Berne / Switzerland Printed by Heinz Arm Bern / Switzerland  74  pp.