เอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง

 

ไม่เผาตอซังและฟางข้าว 

แล้วจะปลูกข้าวได้อย่างไร

 

โดย

พิสิฐ   พรหมนารท

นักวิชาการเกษตร 8ว 

ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี   กรมการข้าว

 

ณ  โรงแรมมารวยการ์เด้น

วันที่ 23 กุมภาพันธ์  2549

จัดโดยกรมส่งเสริมการเกษตร

 

 

 

 

ไม่เผาตอซังและฟางข้าว  แล้วจะปลูกข้าวได้อย่างไร

พิสิฐ   พรหมนารท

ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี   089-0984709

 

ตอซังและฟางข้าวมีประโยชน์อย่างไร

                ดินที่ดีมีตามหลักปฐพีวิทยาต้องมีลักษณะดังนี้คือเมื่อแบ่งส่วนประกอบของดินทั้งหมดเป็น100 เปอร์เซ็นต์  ดินนั้นควรมีเนื้อดินที่เป็นอนินทรียวัตถุ mineral matter เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยของแร่และหินต่างๆที่สลายตัวตามธรรมชาติ ส่วนนี้ควรมี 45 เปอร์เซ็นต์  ส่วนที่สองคืออินทรียวัตถุ organic matter เป็นส่วนที่เกิดจากการเน่าเปื่อยของซากพืชและสัตว์ ส่วนนี้ควรมี 5 เปอร์เซ็นต์  อีกสองส่วนที่เหลือควรมีอย่างละ 25 เปอร์เซ็นต์คืออากาศและน้ำ  ในกรณีของดินนาซึ่งต้องมีน้ำขังเกือบตลอดเวลาจะมีอากาศในดินและน้ำน้อย  ส่วนประกอบนี้จึงเป็นน้ำเกือบทั้งหมด  การเผาตอซังและฟางข้าวทิ้งไปจึงเป็นการทำลายโอกาสที่จะพัฒนาดินให้มีศักยภาพการผลิตที่ดีขึ้น  ดินนาส่วนใหญ่มีอินทรียวัตถุในดินน้อยกว่า 2 เปอร์เซ็นต์

                ตอซังและฟางข้าวมีธาตุอาหารเป็นส่วนประกอบดังนี้คือ ไนโตรเจน 0.65-0.70 % ฟอสฟอรัส 0.08-0.10 % โพแทสเซียม 1.40-1.60 % แคลเซียม 0.40 % แมกนีเซียม 0.20 %   หากเผาตอซังและฟางข้าวทิ้งไปเหลือเป็นขี้เถ้านั้นไนโตรเจนจะถูกทำลายไปกว่า 90 %  ฟอสฟอรัส 20 % และโพแทสเซียม 23 %  ตอซังและฟางข้าวมีเป็นจำนวนมากคิดคร่าวๆจากสัดส่วนของการผลิตข้าวเปลือก 1 ส่วนจะเกิดตอซังและฟางข้าว 1.5 ส่วน  ปัจจุบันประเทศไทยผลิตข้าวได้มากกว่า 20 ล้านตันข้าวเปลือก/ปี  ดังนั้นจะมีตอซังและฟางข้าวกว่า 30 ล้านตัน/ปี  คิดเป็นปริมาณไนโตรเจนเพียงตัวเดียวเป็นปุ๋ยยูเรียประมาณ 42,000 ตัน/ปี

                ดังนั้นการเผาตอซังและฟางข้าวนอกจากจะทำให้เกิดมลพิษคือความร้อน ควัน ฝุ่นละออง  ปัญหาต่อการจราจรแล้ว  ยังเป็นการทำลายวัสดุที่จะใช้ในการปรับปรุงดินที่จะสลายตัวให้ธาตุอาหารพืชจำนวนมหาศาลอีกด้วย

 

 

 

 

 

 

 

ประโยชน์ของอินทรียวัตถุ

                ตอซังและฟางข้าวเป็นวัสดุอินทรีย์ที่เหลือจากการทำนาหากปล่อยทิ้งไว้จะสลายตัวตามธรรมชาติได้เป็นอินทรียวัตถุในที่สุด    อินทรียวัตถุในดินเป็นวัตถุที่ซับซ้อนมากประกอบด้วยสารประกอบที่มีในพืชและสัตว์และมีจุลินทรีย์ที่ตายแล้วและยังมีชีวิตอยู่  และยังมีสารสังเคราะห์ที่เกิดจากกิจกรรมของจุลินทรีย์   อินทรียวัตถุในดินมีประโยชน์มากมาย  สรุปสั้นๆ ในแต่ละหัวข้อคือ ในแง่ฟิสิกส์ช่วยในดินเกาะตัวเป็นก้อน granulation   ช่วยอุ้มน้ำ water holding capacity  ในแง่เคมีช่วยดูดซับธาตุอาหารพืชไว้อย่างหลวมๆ  ช่วยต้านทานการเปลี่ยนแปลง pH ของดิน  ในแง่ชีวะอินทรียวัตถุมีธาตุอาหารเป็นองค์ประกอบ  เมื่อสลายตัวโดยกิจกรรมของจุลินทรีย์ธาตุอาหารเหล่านี้ก็จะถูกปลดปล่อยออกมาสะสมในดิน  นอกจากนี้อินทรียวัตถุเป็นอาหารของจุลินทรีย์จึงมีผลต่อกิจกรรมของจุลินทรีย์ในดินเช่นการตรึงไนโตรเจนโดยจุลินทรีย์

                ในคำแนะนำการใส่ปุ๋ยในนาข้าวที่ดินนามีการวิเคราะห์ดินแล้วนั้นให้มีการใส่ปุ๋ยลดลงตามสัดส่วนของอินทรียวัตถุในดินนานั้นๆ คือ  ดินที่มีอินทรียวัตถุในดินมากกว่า 2 %  ให้ใส่ปุ๋ยเพียงครึ่งของอัตราแนะนำ  โดยทั่วไปอินทรียวัตถุในดินที่มีมากกว่า 2 % นั้นจะสลายตัวให้ธาตุอาหารพืชมากเพียงพอต่อการให้ผลผลิตของข้าว แต่ต้องมีการใส่ปุ๋ยบ้างเพื่อรักษาสมดุลของธาตุอาหารในดินนานั้นไว้ 

 

แล้วทำไมเผาตอซังและฟางข้าวทิ้งกันอีก

มีความจำเป็นอย่างน้อยสองประการที่ทำให้ชาวนาต้องทำการเผาตอซังและฟางข้าว  คือทำเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการทำให้พื้นที่โล่งเตียนง่ายแก่การไถพรวนเตรียมดิน  เนื่องจากการไถดะหรือไถพรวนจะทำได้ยากหากมีตอซังและฟางข้าวจำนวนมาก  และการปล่อยให้ตอซังและฟางข้าวอยู่ในนาแล้วไถกลบลงไปอาจเกิดปัญหาข้าวเมาซังอันเกิดจากขบวนการสลายตัวของตอซังและฟางข้าวที่มีกิจกรรมของจุลินทรีย์เป็นตัวทำงานนี้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งขบวนการ denitrification  ที่จุลินทรีย์ในดินมีการดึงเอาไนโตรเจนในดินมาใช้  เพื่อย่อยสลายตอซังและฟางข้าวจนกลายเป็นอินทรียวัตถุที่มีประโยชน์  ในช่วงนี้ดินจะเกิดการขาดไนโตรเจนอย่างรุนแรง ชาวนาส่วนใหญ่ก็รู้ว่าตอซังและฟางข้าวนั้นหากเน่าเปื่อยผุพังและจะสลายตัวเป็นอินทรียวัตถุนั้น  จะเป็นปุ๋ยอย่างดี  แต่ก็ติดปัญหาที่กล่าวแล้วชาวนาส่วนหนึ่งจึงมักเผาทิ้งเพื่อตัดปัญหาไป  และมีชาวนาบางส่วนที่เข้าใจผิดว่าการเผาฟางข้าวทำให้ดินดีขึ้น  โดยสังเกตุจากการเผาฟางข้าวที่เหลือจากการนวดข้าวกองทิ้งไว้แล้วพบว่าเมื่อปลูกข้าวฤดูถัดไปบริเวณนั้นข้าวจะงามกว่าบริเวณอื่น

 

 

 

 

ใครเผาตอซังและฟางข้าวทิ้งบ้าง

                จากการสำรวจข้อมูลทั่วทุกภาคของประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2541  พบว่าชาวนาในเขตชลประทานและนาน้ำลึกเผาตอซังและฟางข้าวมากกว่า 90 %  แต่ชาวนาในพื้นที่นาน้ำฝนส่วนใหญ่ไถกลบตอซังและฟางข้าว  อีกส่วนหนึ่งนำฟางข้าวไปเลี้ยงสัตว์  บางส่วนใช้คลุมแปลงผัก  ใช้ตอซังเพาะเห็ด  มีประมาณ 10- 20 % เท่านั้นที่เผาทิ้ง

 

งานวิจัยการไถกลบฟางข้าวและการใช้ตอซังและฟางข้าวในระบบการผลิตข้าว

                งานวิจัยการใช้ประโยชน์จากฟางข้าวในแง่ของการเป็นประโยชน์ต่อการผลิตข้าว มีเป็นจำนวนมากตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันก็ยังมีการวิจัยอย่างต่อเนื่อง

 

งานวิจัยการไถกลบตอซังและฟางข้าว

Ponnamperuma  ดำเนินงานที่สถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ  ในปี 2527  รายงานว่าการไถกลบฟางและตอซังข้าวติดต่อกัน 16 ฤดูการเพาะปลูกทำให้ได้ผลผลิตข้าว 656 กก./ไร่  ส่วนการเผาฟางข้าวอย่างต่อเนื่องให้ผลผลิตข้าว 544 กก./ไร่

ประเสริฐ   สองเมือง (กองปฐพีวิทยา) ปี 2543 สรุปผลการทดลองการใส่ฟางข้าวอัตรา 1-2 ตัน/ปี  ต่อเนื่อง 8 ปี  ให้ผลผลิตข้าว กข7  441-488 กก./ไร่  ในขณะที่ไม่ใส่ฟางให้ผลผลิต 443 กก./ไร่  ส่วนข้าวขาวดอกมะลิ 105 ใส่ฟางข้าวต่อเนื่อง 8 ปี  ให้ผลผลิต 431-444 กก./ไร่  ในขณะที่ไม่ใส่ฟางให้ผลผลิต 403 กก./ไร่ 

ชุติวัฒน์  วรรณสาย (ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก)  ปี 2545  การใส่ฟางข้าว 2 ตัน/ไร่ ติดต่อกัน 3-4 ปี  ให้ผลผลิตข้าว กข23 ใกล้เคียงกับการใส่ปุ๋ยเคมีอัตรา 8-4-4 กก. (N-P2O5-K2O)  การใส่ฟางข้าว 2 ตัน/ไร่ทำให้ดินนามีความอุดมสมบูรณ์สูงกว่าการเกี่ยวตอซังออก หรือการเผาตอซังและฟางข้าวทิ้ง

สาคร   ผ่องพันธ์ และคณะ (กองเกษตรเคมี) ปี 2547  ดำเนินการทดลองเพียง 2 ฤดู คือนาปรังต่อด้วยนาปี ปี 2541 สรุปว่าการใส่ฟางข้าวร่วมกับปุ๋ยยูเรียไม่มีผลช่วยเพิ่มผลผลิต  หรือปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ไนโตรเจนจากปุ๋ย  เมื่อเทียบกับการใส่ปุ๋ยยูเรียอย่างเดียว

 

                ในทางวิชาการนั้นมีการทดลองตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีผลเด่นชัดว่าตอซังและฟางข้าวมีประโยชน์ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และเพิ่มผลผลิตข้าวตลอดจนลดอัตราการใช้ปุ๋ยเคมี

 

 

 

 

ปัญหาของการไถกลบตอซังและฟางข้าว

                นาน้ำฝน  มีเพียงส่วนน้อยที่เผาทิ้ง  การไถกลบตอซังและฟางข้าวทำได้ไม่ยากเนื่องจากฟางสั้นและมีไม่มาก  ปัญหาข้าวเมาฟางก็ไม่เกิดเนื่องจากมีปริมาณตอซังและฟางข้าวน้อยกว่า

                นาน้ำลึก    เผาทิ้งเกือบทั้งหมด  เนื่องจากระดับน้ำลึก 50-200 เซนติเมตร  ต้นข้าวในระยะเก็บเกี่ยวอาจยาวถึง 300 เซนติเมตร  หลังเก็บเกี่ยวด้วยแรงงานคนตอซังที่เหลือมีมากคลุมหน้าดินไว้ทั้งหมด         ตอซังที่ยาวมากกว่า 150 เซนติเมตร หรือฟางข้าวที่พ่นออกจากเครื่องเกี่ยวนวดก็มีปริมาณมาก 1.5-2 ตัน/ไร่  การไถพรวนดินด้วยชุดไถผาล 7 จึงทำไม่ได้เลย  ชุดไถผาล 3 พลิกดินกลบตอซังได้ประมาณ 50 % เท่านั้น  หลังไถกลบตอซังแล้วไถพรวนด้วยชุดไถผาล 7 อีกครั้งหนึ่งก็ยังมีตอซังและฟางข้าวอยู่บนผิวดินจำนวนมาก  เป็นอุปสรรคต่อการงอกและเจริญเติบโตของข้าว

                นาชลประทาน  เผาทิ้งเป็นส่วนใหญ่  เนื่องจากการทำนาต่อเนื่อง  การไถกลบอาจทำได้ด้วยชุดผาลไถทั่วไปหรือใช้จอบหมุนแบบต่างๆ  แต่ก็จะเกิดปัญหาข้าวเมาฟางในช่วงแรก  ทั้งๆที่หลังจากพ้นระยะนี้ไปแล้วตอซังและฟางข้าวจะเริ่มสลายตัวให้อินทรียวัตถุและธาตุอาหารแก่ดินและข้าว

                จึงสรุปได้ว่าในพื้นที่นาน้ำลึกและนาชลประทานปัญหาคือการจัดการ  ในพื้นที่นาน้ำลึกต้องหาอุปกรณ์คือชุดผาลที่สามารถไถกลบตอซังได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ในพื้นที่นาชลประทานต้องแก้ปัญหาข้าวเมาซัง 

 

หากไม่เผาทิ้งจะทำอย่างไร

งานทดลองต่อไปนี้มีจุดประสงค์เพื่อแก้ปัญหาของชาวนา  หากมีการไถกลบตอซังและฟางข้าวแล้วจะมีปัญหาอะไรบ้างและจะแก้อย่างไร  มีงานวิจัย 2 ชิ้นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ดังนี้

 

 

1. งานวิจัยศึกษาวัสดุช่วยย่อยสลายตอซังและฟางข้าว

 

1.1 งานวิจัยการเตรียมดินแบบไม่เผาตอซังและฟางข้าว โดยไถกลบตอซังและฟางข้าว ในข้าวนาสวน และนาน้ำลึก        (ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี )

งานวิจัยนี้ดำเนินการโดยผู้เขียนเองที่ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี วิจัยการผลิตข้าวที่มีการไถกลบตอซังและฟางข้าวแทนการเผาฟางข้าว  โดยมีการศึกษาการใช้วัสดุต่างๆ ที่น่าจะส่งเสริมการย่อยสลายฟางข้าวของจุลินทรีย์ นำมาใส่ก่อนการไถกลบตอซัง   สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้

 

 

1.1.1  การผลิตข้าวนาสวนแบบไถกลบฟางข้าว

ดำเนินการทดลองในถังซีเมนต์โดยทำการใส่วัสดุหลายชนิดที่น่าจะส่งเสริมการย่อยสลายตอซังและฟางข้าว  ใช้ตอซังและฟางข้าวอัตรา 2 กก./ตารางเมตร (ประมาณ 3.2 ตัน/ไร่) แล้วตรวจวัดความเปลี่ยนแปลงของอินทรียวัตถุในดินเพื่อเป็นตัวบ่งชี้การสลายตัวของตอซังและฟางข้าว  และผลผลิตข้าวที่ปลูกหลังหมักตอซังและฟางข้าว  ผลการทดลองพบว่าหัวเชื้อปุ๋ยหมัก พด.1  ปุ๋ยยูเรีย  ปุ๋ยคอก  ปูนมาร์ล และปูนขาว  ที่ใส่ในช่วงการหมักฟางข้าวไม่มีผลต่อการสลายตัวของฟางข้าว  วัสดุที่กล่าวมาไม่มีผลต่อผลผลิตข้าว ยกเว้นปุ๋ยยูเรียทำให้ข้าวพันธุ์ชัยนาทที่ปลูกหลังหมักฟางข้าว 0-1 เดือนมีผลผลิตสูงขึ้น  จากการคลุกหมักฟางข้าวลงในดินก่อนการปลูกข้าวอินทรียวัตถุในดินลดลงในช่วงแรก  0-1 เดือน หลังจากนั้นเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2-4 เดือนแล้ว

1.1.2 การผลิตข้าวนาน้ำลึกแบบไถกลบฟางข้าว

ดำเนินการทดลองในนาโดยทำการใส่วัสดุหลายชนิดที่น่าจะส่งเสริมการย่อยสลายตอซังและฟางข้าว  แล้วไถกลบฟางด้วยชุดไถผาล3 และพรวนด้วยชุดไถผาล7  พบว่าหัวเชื้อปุ๋ยหมัก พด.1  ปุ๋ยยูเรีย  ปุ๋ยคอก  ปูนมาร์ล และปูนขาว  ไม่มีผลต่อการสลายตัวของฟางข้าวและผลผลิตข้าว  ยกเว้นปุ๋ยยูเรีย ที่ใส่ในช่วงไถกลบฟางข้าวไม่ทำให้ผลผลิตข้าวพันธุ์พลายงามปราจีนบุรีสูงขึ้น  แต่มีแนวโน้มทำให้ผลผลิตลดลง

ผลการศึกษานี้สรุปว่าเมื่อมีการไถกลบตอซังและฟางข้าวในข้าวนาสวนการให้ไนโตรเจนในช่วงของการเริ่มย่อยสลายช่วยให้ผลผลิตข้าวดีขึ้น

1.2 การพัฒนาการผลิตข้าวนาชลประทานโดยใช้จุลินทรีย์เพื่อการจัดการฟางอย่างมีประสิทธิภาพ

(สุรพล  จัตุพร   ศูนย์วิจัยข้าวสุพรรณบุรี)

          2.1 การศึกษาจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพย่อยสลายตอซังและฟางข้าว  พบว่า จุลินทรีย์ พด.2 ช่วยย่อยสลายตอซังและฟางข้าวได้ดี  สามารถปลูกข้าวได้หลังการไถกลบ 2 สัปดาห์

                2.2 ศึกษาวิธีการจัดการฟางแตกต่างกัน 2 วิธี  คือไถกลบ  และไม่ไถกลบ  โดยมีการใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ  พด. 1+3 และ พด. 2 ย่อยสลายตอซังและฟางข้าว  และเพิ่มประสิทธิภาพของจุลินทรีย์โดยการเพิ่มแหล่งอาหารและพลังงาน  ได้แก่  กากน้ำตาล  และปุ๋ยยูเรีย  เปรียบเทียบกับวิธีการเผาหรือเอาตอซังและฟางข้าวออกนอกพื้นที่  ผลการศึกษาปริมาณโปรตีนและฟีนอลที่เกิดขึ้นในขบวนการย่อยสลายฟางข้าว  และค่าลบในสภาพรีดักชั่น (Eh)  พบว่าขบวนการย่อยสลายฟางเกิดขึ้นสูงสุดในช่วง 3-4 สัปดาห์  และค่าลบในสภาพรีดักชั่นมีค่าลดลงอย่างรวดเร็วในช่วง 3 วันแรกหลังการขังน้ำ  และมีค่าเพิ่มขึ้นตามลำดับเมื่อดินอยู่ในสภาพ oxidation เมื่อลดระดับน้ำหลังการหว่านข้าว

                ผลการศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่าจุลินทรีย์และแหล่งอาหารช่วยให้การย่อยสลายเกิดเร็วขึ้นและเกิดสูงสุดในช่วง 2-3 สัปดาห์แล้วลดลงเมื่อปล่อยน้ำออก  สอดคล้องกับผลการทดลองของศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี

 

2.งานวิจัยศึกษาอุปกรณ์ช่วยในการไถกลบตอซังและฟางข้าว

(ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี)

                คณะวิจัยโดยการนำของ อดีตผอ. สุเทพ   นุชสวาท  ได้นำชุดผาลสับใบและกลบเศษซากอ้อยที่พัฒนาโดยศูนย์วิจัยพืชไร่สุพรรณบุรี  โดยคณะของคุณอรรถสิทธิ์  บุญธรรม  นำมาเพื่อทดลองใช้ในการไถกลบตอซังข้าวนาน้ำลึก 2 ปี  ได้ผลดี  จึงทำเรื่องเสนอกรมวิชาการเกษตร  และได้รับอนุมัติจากท่านอธิบดี ฉกรรจ์  แสงรักษาวงศ์  ได้จัดซื้อชุดผาลฯ และแจกจ่ายไปยังศูนย์วิจัยข้าว 27 แห่งทั่วประเทศ  และหลังการแจกจ่ายไปแล้วได้ศึกษาผลของการใช้ชุดผาลไถ  ได้ผลดังนี้

                1. หากใช้ชุดผาลนี้กับดินเหนียวแห้งจัดจะแข็งไถได้ไม่ดี ดินต้องมีความชื้นเล็กน้อยประมาณ 5-10 ความชื้นสูงเกินไปขี้ไถจะเป็นก้อนใหญ่ทำให้ไถพรวนลำบาก   หากเป็นดินร่วน  หรือร่วนปนทรายความชื้นน้อยก็ไม่มีปัญหา

                2.  ในแปลงที่มีตอซังและฟางข้าว 1,500-2,000 กก./ไร่  หากปรับให้ไถลึก 20-25 ซม. จะสามารถไถกลบตอซังและฟางข้าวได้ 80-90 %

                3.    ความเร็วของการไถลึก 20-25 ซม.  ได้พื้นที่ 1-1.5 ไร่/ชั่วโมง

          4.    ค่าใช้จ่ายในการใช้ชุดผาลไถนี้เพิ่มขึ้นจากการเตรียมดินโดยชุดไถผาล7  20-50 %

          5.   หลังการไถกลบและไถพรวนแล้วปลูกข้าวตามปกติแบบนาหว่านข้าวแห้งในพื้นที่นาน้ำลึก  ข้าวงอกและเจริญเติบโตให้ผลผลิตดี  ไม่แตกต่างจากการเผาตอซังและฟางข้าวแล้วเตรียมดินแบบเดิม

 

3.งานวิจัยวิธีการปลูกข้าวแบบอื่นๆ  ที่ไม่มีการเผาตอซังและฟางข้าว

 

3.1 การปลูกข้าวนาน้ำลึกแบบไม่เผาตอซังและไม่ไถพรวน

(ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี)

                ในพื้นที่นาน้ำลึกหลังเก็บเกี่ยวด้วยมือตอซังจำนวนมากนอนราบอยู่กับพื้นและยังไม่เกิดการเน่าเปื่อยเพราะยังไม่มีฝนตกนั้น  การผลิตข้าวนาน้ำลึกแบบไม่เผาตอซังและไม่ไถพรวนดินผ่านการทดลองด้านเขตกรรม  ดินปุ๋ย และวัชพืช  พบว่าสามารถปฏิบัติได้จริง  โดยสามารถเริ่มทำนาได้หลังจากมีปริมาณน้ำฝนสะสมมากพอสมควรในช่วงเดือนพฤษภาคมพื้นที่บางส่วนซึ่งเป็นส่วนใหญ่จะไม่มีวัชพืชงอกเลยเนื่องจากไม่เผาตอซังและไม่ได้ไถพรวน  ตอซังที่มีอยู่หนาแน่นจะปกคลุมผิวหน้าดินเอาไว้ (Straw mulching)    แต่บางส่วนของพื้นที่นาจะมีวัชพืชงอกเจริญเติบโตขึ้นมาหนาแน่น  ควรรอเวลาสักระยะหนึ่งเพื่อปล่อยให้วัชพืชที่จะงอกในฤดูนี้ทะยอยงอกให้มากที่สุด  เมื่อเกษตรกรต้องใช้สารกำจัดวัชพืชทดแทนการไถพรวนจะกำจัดวัชพืชได้มากที่สุด  แต่จะไม่ปล่อยให้วัชพืชที่งอกรุ่นแรกโตมากเกินไป    บริเวณที่มีวัชพืชตระกูลหญ้างอกเจริญเติบโตมีอายุเพียง 1-2 สัปดาห์ให้พ่นด้วย glyphosate (isopropylamine) หรือ glyphosate (monoammonium) อัตราต่ำ  แต่หากเป็นวัชพืชตระกูลหญ้าที่โตมากแล้วและกกอายุข้ามปีเช่นแห้วทรงกระเทียมให้พ่นด้วย glyphosate (isopropylamine) หรือ glyphosate (monoammonium) อัตราสูง  แต่หากเป็นวัชพืชใบกว้างและกกอื่นๆ  ให้พ่นด้วย 2,4-D (dimethyl ammonium)  หลังพ่นแล้ว 1 สัปดาห์ให้ตรวจเช็คว่าวัชพืชที่มีอยู่เริ่มตายลงไป  หากมีวัชพืชในบริเวณใดไม่แสดงอาการถูกพิษของสารกำจัดวัชพืชให้ดำเนินการพ่นซ้ำในบริเวณที่เหลือนี้ อย่างไรก็ตามพื้นที่ส่วนใหญ่จะไม่มีวัชพืชงอกและไม่ต้องมีการใช้สารกำจัดวัชพืช จากนั้นให้คอยฟังการพยากรณ์อากาศจากสื่อที่มี แล้วหว่านข้าวแห้งในช่วงที่มีการพยากรณ์อากาศว่าจะมีฝนตกชุกหนาแน่น  โดยหว่านข้าวแห้งอัตรา 20 กก./ไร่  ลงไปบนตอซังที่นอนราบและหญ้าที่กำลังเหี่ยวแห้งตายไป  การปลูกข้าววิธีหว่านนี้ให้ใช้แรงงานคนอีก 1 คน  ใช้ไม้ไผ่ที่มีความยาวประมาณ 3-4  เมตร  ฟาดเบาๆ ลงไปบนตอซังหลังหว่านข้าว  จะทำให้เมล็ดพันธุ์ข้าวหล่นลงไปในซอกระหว่างเส้นตอซัง  หลังจากมีฝนตกพอสมควรข้าวจะงอกและเจริญเติบโตขึ้นมาได้  และให้ผลผลิตได้ดีไม่แตกต่างจากการเผาแล้วไถเตรียมดินแบบเดิม  วิธีการผลิตข้าวนาน้ำลึกแบบนี้น่าจะเป็นการผลิตที่ยั่งยืนเพราะไม่เผาตอซัง  สารกำจัดแมลงและโรคข้าวก็มักไม่ได้ใช้ในระบบนิเวศนี้อยู่แล้ว  จากการดำเนินงาน 5 ปี  ไม่มีโรคหรือแมลงศัตรูใดๆ ระบาดจนทำความเสียหายแก่ผลผลิตเลย ส่วนสารกำจัดวัชพืชก็จะใช้ในบริเวณส่วนน้อยเท่านั้น 

 

3.2    การปลูกข้าวล้มตอซังแบบประยุกต์

(อัคครินทร์   ท้วมขำ  สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5)

                การปลูกข้าววิธีนี้จะทำต่อเนื่องจากการทำนาหว่านน้ำตมที่มีการทำอย่างดี  ตั้งแต่การเตรียมดินและทำเทือกให้สม่ำเสมอ  ใช้พันธุ์ข้าวไม่ไวแสงทั่วไปอัตราเมล็ดพันธุ์ 15-20 กก./ไร่   ก่อนเก็บเกี่ยว 10 วัน  ให้ระบายน้ำออกให้ดินหมาดหลังเก็บเกี่ยวดินไม่ชื้นไม่แห้งเกินไป  เก็บเกี่ยวข้าวระยะพลับพลึง 28-30 วัน หลังออกรวง  ไม่เผาตอซังและฟางข้าว  แต่เกลี่ยฟางข้าวให้สม่ำเสมอทั่วแปลงภายใน 1-3 วันหลังเกี่ยว  แล้วย่ำตอซังให้ล้มนอนราบกับพื้นดินที่ชื้นหมาดๆ  โดยย่ำตอนเช้ามืดมีน้ำค้างช่วยให้ฟางนุ่ม  ย่ำให้ตอซังล้มไปในทางเดียวกัน 2-3 เที่ยว  หากมีน้ำเข้าหรือฝนตกมาให้ทำร่องระบายออกไม่ให้น้ำขังทำลายหน่อข้าว  เมื่อหน่อข้าวงอก 3-4 ใบ คือประมาณ 10-15 วันหลังล้มตอ  ให้เอาน้ำเข้าดินแฉะแต่ไม่ท่วม  ใส่ปุ๋ยครั้งแรกด้วย ยูเรีย 15-20 กก./ไร่ หลังใส่ปุ๋ย 5-7 วัน เอาน้ำเข้าสูง 5 ซม.  เมื่อข้าวอายุ 40 วันใส่ปุ๋ย 16-20-0 อัตรา 25 กก./ไร่  และใส่ยูเรียอีกครั้ง 55 วันหลังล้มตอ อัตรา 20 กก./ไร่  ข้าวจะเก็บเกี่ยวได้เมื่ออายุประมาณ 90 วัน

                การปลูกข้าววิธีนี้มีข้อจำกัดอยู่มากแต่ก็ยังมีเกษตรกรปฏิบัติอยู่  ต้องเตรียมดินในข้าวรุ่นแรกอย่างดี  พื้นที่ต้องควบคุมน้ำได้ดี  หากมีโรคแมลงรบกวนก็จะไม่สามารถใช้ตอซังต่อไปได้  อย่างไรก็ตามจากการทดลองของสถาบันวิจัยข้าวพบว่าผลผลิตของข้าวล้มตอซังมีผลผลิตลดลง  แต่ต้นทุนและเวลาที่ใช้ในการผลิตข้าววิธีนี้ก็น้อยกว่านาหว่านน้ำตม

 

สรุปเนื่อหา

                - ตอซังและฟางข้าวเป็นวัสดุอินทรีย์ที่มีค่าหากสามารถจัดการให้ย่อยสลายในนาจะได้เป็นอินทรียวัตถุเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ดิน  และลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้

                - ตอซังและฟางข้าวในสภาพนาชลประทานมีปริมาณมากต้องมีการใส่วัสดุช่วยในการย่อยสลายฟางข้าวและปุ๋ยไนโตรเจนเพื่อแก้ไขอาการเมาฟางของข้าว  จุลินทรีย์จาก พด.2 ช่วยย่อยสลายฟางข้าวภายใน 2 สัปดาห์  ปุ๋ยยูเรีย 16 กก./ไร่ ใส่ในช่วงไถกลบตอซังและฟางข้าว  ช่วยแก้ปัญหาข้าวเมาซังได้

                -  ชุดสับใบและกลบเศษซากอ้อยสามารถไถกลบตอซังและฟางข้าวในพื้นที่นาน้ำลึกที่มีตอซังยาวกว่า 150 ซม. กลบตอซังและฟางข้าวได้ดี 80-90 %

                - ในพื้นที่นาน้ำลึกการปลูกข้าวโดยไม่เผาตอซังและฟางข้าวให้ผลผลิตได้ไม่แตกต่างจากการเตรียมดินแบบเดิม

                - ในพื้นที่นาชลประทานที่ปลูกข้าวนาหว่านน้ำตมอย่างประณีตในฤดูถัดไปใช้วิธีการปลูกแบบล้มตอซังโดยไม่ต้องเผาฟางข้าว  ผลผลิตอาจน้อยลงแต่ใช้ต้นทุนและเวลาน้อยกว่านาหว่านน้ำตมทั่วไป

 

เอกสารอ้างอิง

คณาจารย์ภาควิชาปฐพีวิทยา คณะเกษตร  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.  2530. ปฐพีวิทยาเบื้องต้น.  673 หน้า.

เจริญ  ท้วมขำ.  2544. การปลูกข้าวล้มตอซังแบบประยุกต์. เอกสารประกอบการบรรยายการฝึกอบรมหลักสูตรเรื่อง วิชาเครื่องจักรกลเกษตรก่อนเก็บเกี่ยว. 33 หน้า. สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 5  จ.ชัยนาท.

ประเสริฐ  สองเมือง. 2543. การใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในนาข้าว. 84 หน้า. กรมวิชาการเกษตร.

สาคร  ผ่องพันธ์  อาร์วิน  อาร์  โมซิเออร์  เจนวิทย์  สุขทองสา.  2547.  ผลของการใส่ฟางข้าวและขี้เถ้าที่มีต่อประสิทธิภาพของปุ๋ยยูเรียที่หว่นในนาข้าว.  วารสารวิชาการเกษตร.  ปีที่ 22  ฉบับที่ 1.หน้า 9-23.

ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก. 2545. 40 ปี ศูนย์วิจัยข้าวพิษณุโลก.  114 หน้า. โรงพิมพ์ตระกูลไทย พิษณุโลก.

Ponnamperuma  F.N. 1984. Straw as a source of nutrients for wetland rice.  Organic Matter and Rice. International Rice Research Institute.  Los Banos Philippines page 117-136.