บทความลงในนสพ.กสิกร 

คู่คิดชาวนา  พิสิฐ   พรหมนารท 

ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี  สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6

 

เลิกเผาฟางข้าวกันได้แล้ว

            เดิมผู้เขียนทำงานด้านปรับปรุงการผลิตข้าวนาสวนที่สถานีทดลองข้าวชุมแพ  สังกัดศูนย์วิจัยข้าวอุบลราชธานี  ทำงานได้ไม่นานก็รู้สึกว่ามีความรู้ไม่เพียงพอที่จะทำงานวิจัยให้ดีได้จึงหาทางเรียนต่อ  สมัยนู้นทุนเรียนปริญญาโทและเอกมีค่อนข้างเยอะครับ  จากการสอบชิงทุนการศึกษาในครั้งที่ 2 ก็ประสบผลสำเร็จและนับเป็นเวลาปฏิบัติงานวิจัยแบบไม่ต้องคิดเองได้ราว 4 ปี    โดยได้ทุนภายใต้ Columbo plan  อยู่ในโครงการวิจัยเกษตรแห่งชาติ ( สกช ) ศึกษาในระดับปริญญาโท  สาขาวิชาเอกพืชไร่นา ( Agronomy )  เน้นหนักงานวิจัยด้านชีววิทยาวัชพืช   หลังสำเร็จการศึกษาได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขทุนคือถูกตัดโอนตำแหน่งมาที่ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรี  ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอบ้านสร้าง 

จังหวัดปราจีนบุรีมีภูมิประเทศเฉพาะตัวที่ห้ามลอกเลียนแบบ  อำเภอเมือง  อำเภอประจันตคาม  และอำเภอนาดี  มีพื้นที่ติดเทือกเขาใหญ่  แน่นอนว่าต้องมีความสูงเหนือระดับน้ำทะเลโขอยู่  ในขณะเดียวกันพื้นที่บางส่วนของอำเภอเมือง  อำเภอบ้านสร้าง  อำเภอศรีมหาโพธิ์  และอำเภอศรีมโหสถ  กลับมีพื้นที่นาเป็นที่ราบลุ่มลึกความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเพียง 2-3 เมตร เท่านั้น  แม่น้ำบางปะกงยิ่งสร้างความประหลาดใจให้ผู้เขียนขึ้นไปอีก  คือในฤดูแล้งที่ฝนขาดหายไปนานจะมีอาการน้ำทะเลหนุน  น้ำในแม่น้ำซึ่งในช่วงนี้เป็นน้ำกร่อยไปเรียบร้อยโรงเรียนวัดบ้านสร้างแล้วนั้น  จะขึ้นลงตามระดับน้ำทะเลอีกต่างหาก  เดือนเมษายนปี 2535  ปีแรกที่ผู้เขียนมาทำงานที่นี่ก็ได้ลิ้มรสความเค็มของน้ำทะเลทางตา  คือน้ำกร่อยที่ประปาอำเภอบ้านสร้างสูบขึ้นจากแม่น้ำบางปะกงมันเค็มขนาดว่าหากใช้อาบแล้วให้มันเข้าตาก็จะแสบตาเพราะความเค็มนั้นเอง

                ศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรีในสมัยนั้นสังกัดสถาบันวิจัยข้าว  มีหน้าที่ดำเนินงานวิจัยข้าวขึ้นน้ำและข้าวทนน้ำลึก  เรียนท่านผู้อ่านอีกนิดหน่อยว่า  ข้าวขึ้นน้ำหมายถึงพันธุ์ข้าวที่มีความสามารถพิเศษที่ไม่มีในข้าวอื่น ( ไม่ห้ามลอกเลียนแบบนะครับ ) คือสามารถเจริญเติบโตยืดตัวหนีน้ำท่วมที่เพิ่มระดับประมาณวันละ 10 เซนติเมตร และเจริญเติบโตได้ดีเมื่อมีระดับน้ำลึก 100-200 เซนติเมตร  อีกประเภทหนึ่งคือข้าวทนน้ำลึกเจริญเติบโตได้ดีเมื่อมีระดับน้ำลึก 50-100 เซนติเมตร  ปัจจุบันข้าวทั้งสองชนิดถูกรวมเรียกว่าข้าวนาน้ำลึก  อดีตผู้อำนวยการศูนย์ ฯ  ผ.อ ประโยชน์  เจริญธรรม  มอบหมายให้ผู้เขียนปฏิบัติงานในกลุ่มปรับปรุงการผลิตโดยรับผิดชอบงานวิจัยด้านวัชพืชของข้าวขึ้นน้ำและข้าวทนน้ำลึกตามที่ได้ไปเรียนมานั้นเอง  นั้นคือผู้เขียนต้องคิดงานขึ้นมาเองเขียนโครงการวิจัยเสนอต่อคณะกรรมการวิจัยของศูนย์ ฯ    หากผ่านก็จะเข้ารอบลึกเข้าไปอีก  โดยจะต้องไปผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการสถาบันวิจัยข้าว  และหากผ่านในรอบสองนี้ได้ก็จะได้รางวัลเป็นเงินวิจัยที่จะตกมาที่ศูนย์ฯ นั้นเอง  สมัยก่อนเรียกการเสนองานแบบนี้ว่าการเขียนทะเบียนวิจัย  นั้นคือผู้เขียนและนักวิจัยรุ่นพี่ทุกท่านที่นี่และทุกที่ในกรมวิชาการเกษตรสมัยนั้นต้องปฏิบัติแบบนี้  ขั้นตอนที่ว่านี้ใช้เวลา 2 ปี  จึงจะได้ทำงานวิจัยที่เสนอไว้

                สิ่งที่เคยชินอีกอย่างหนึ่งสำหรับที่นี่แต่ไม่คุ้นเลยและแปลกใจมากสำหรับผู้เขียนคือการเผาตอซังและฟางข้าว  ก่อนเริ่มทำนาชาวนาจะเผาตอซังและฟางข้าวที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวทิ้งไปให้หมด  โดยจะปฏิบัติการอันไม่ค่อยจะสุนทรนี้ตั้งแต่หลังเก็บเกี่ยวปลายเดือนมกราคมเป็นต้นไป  ผลอันพึงประสงค์ที่ได้จากการเผาอินทรียวัตถุอันมีค่านี้ทิ้งไปก็คือความสะดวกในการไถพรวนเพียงประการเดียว  โดยการไถจะทำในเดือนเมษายนแล้วหว่านข้าวแห้งก่อนสงกรานต์เป็นต้นไป เมื่อมีฝนตกสะสมมากพอข้าวก็จะงอกเจริญเติบโตสวยงามดีในเดือนพฤษภาคม  ข้าวสองชนิดนี้จะได้เวลาเก็บเกี่ยวตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมไปจนถึงต้นเดือนมกราคม  แต่ก็มีความแตกต่างกันบ้างคือในบางพื้นที่เช่นแถบจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอาจเก็บเกี่ยวเอากุมภาพันธ์โน้นแหละครับ 

ผลอันไม่พึงประสงค์ที่ได้จากการเผานี้คือความร้อน  ควัน  ละอองฝุ่นขี้เถ้าฟาง  ทั้งสามสิ่งนี้เป็นพิษภัยต่อสภาพแวดล้อมของโลกในภาพกว้าง  ใครที่ได้ดูหนังชื่อ วิกฤติวันสิ้นโลก  The day after tomorrow  คงจะเห็นถึงความน่ากลัวที่เราอาจจะได้เห็นในช่วงชีวิตเรานี้  ส่วนพิษภัยที่ใกล้ตัวเข้ามาเช่นอุบัติเหตุบนท้องถนนเนื่องจากควันบดบังทัศนวิสัยสำหรับการจราจรและสุขภาพของประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้น  ก็จะทำให้เห็นชัดขึ้นมาถึงปัญหาจากการเผาตอซังและฟางข้าวทั้งสิ้น  ผู้เขียนจึงคิดหาทางแก้ปัญหานี้มาตั้งแต่บัดนั้น

                ถาม :   ฟางน่ะไม่เผาทิ้งได้ไหมครับ ? 

ตอบโอ๊ย ไม่เผาไถไม่ได้หรอกซังมันแยะ ถ้าไถกลบฟางก็จะมีปัญหาข้าวไม่ค่อยงอกและ

             เจริญเติบโตไม่ดี

หลังจากเผาตอซังและฟางข้าวแล้วชาวนาที่นี่เขาใช้รถแทรกเตอร์ใหญ่ครับจำพวกฟอร์ด 5500  6600  ใช้ลากชุดไถผาล 7  ว่าจ้างกันไร่ละ 80-100 บาท  วิ่งไถกันทั้งวันทั้งคืนได้ประมาณชั่งโมงละ  3-5 ไร่   ฟางหนามากครับที่นี้  ก็มันนาน้ำลึกนี่ครับ  ช่วงน้ำหลากในเดือนกันยายน-ตุลาคม  น้ำในนาอาจลึก 1-2 เมตร  และจะถูกกักอยู่ในนาไปจนใกล้เก็บเกี่ยวจึงจะเปิดประตูน้ำระบายลงสู่แม่น้ำบางปะกงในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน  ตอนเก็บเกี่ยวข้าวอาจมีความยาวจากโคนต้นถึงปลายรวงประมาณ 250 เซนติเมตร  แม้จะมีความหนาแน่นเพียง 100-150 ต้นต่อตารางเมตรก็ตาม  ชุดไถผาล 7 บอกอยู่แล้วมีผาลไถกลบ 7 อัน  ด้วยจำนวนผาลที่มากเกินไปนี่เองเมื่อวางชุดใบผาลลงบนตอซังที่หนามากของข้าวนาน้ำลึกใบผาลจึงกลิ้งไปบนตอซังไม่กินดินเลย  ดังนั้นหากไม่เผาเจ้าอย่าหวังว่าจะไถได้  ความพยายามอยู่ที่ไหนความลำบากอยู่ที่นั้น เอ๊ย  ไม่ไช่ ๆ  มันต้องทำได้สักทางหนึ่งละน่า   ชุดไถดะผาล 3 ไงหล่ะ  ผู้เขียนใช้ชุดไถดะผาล 3 นี้ดำเนินงานวิจัยไถกลบฟางข้าวตั้งแต่ปี 2541  จนจบงานวิจัยในปี 2544  ความจริงได้เริ่มทดลองแบบศึกษาเบื้องต้นก่อนหน้านั้นแล้ว  โดยทำงานร่วมกับเจ้าแม่ดินปุ๋ยข้าว  ดร.ลัดดาวัลย์  กรรณนุช  ตอนนั้นประมาณปี 2538  เจ้าแม่ท่านยังอยู่ที่นี่ครับหลายท่านคงรู้จักนะครับ  ถึงตรงนี้เข้าใจกันไว้ก่อนนะครับว่าปัญหาการปฏิบัติตัดทิ้งไปก่อนนะครับ  คือที่จริงแล้วไถกลบฟางนะทำได้แม้ฟางจะยาวและหนามาก  แต่ต้องใช้ชุดไถผาล และต้องตามด้วยการไถพรวนด้วยชุดไถพรวนผาล 7 จึงจะหว่านข้าวแห้งได้

                ผู้เขียนได้ดำเนินงานวิจัยการไถกลบฟางข้าวโดยยึดพื้นฐานของปัญหาที่ว่าหากไถกลบฟางแล้วปลูกข้าว  ข้าวจะเมาฟาง  คืองอกน้อยและเจริญเติบโตไม่ดี  นั่นคือฟางข้าวที่ยังไม่สลายตัวเป็นอินทรียวัตถุจะเป็นปัญหากับข้าวที่กำลังงอกและเจริญเติบโต  ดังนั้นต้องหาวัสดุอะไรก็ได้ที่จะมาช่วยย่อยสลายฟางข้าวให้คืนธาตุอาหารแก่ดินและส่งเสริมการเจริญเติบโตของข้าวด้วย  จึงได้ดำเนินการทดลองโดยใช้วัสดุดังนี้คือ  ปุ๋ยยูเรีย  ปุ๋ยคอก  หัวเชื้อปุ๋ยหมัก พด.1  สารเร่ง พด.2  น้ำสกัดชีวภาพ  ปูนขาว  และปูนมาร์ล  โดยตั้งสมมุติฐานว่าหากวัสดุเหล่านี้มีประสิทธิภาพช่วยย่อยสลายฟางข้าวได้ดีกว่าสภาพธรรมชาติ  เมื่อใส่วัสดุเหล่านี้ลงบนฟางข้าวแล้วไถกลบลงในดิน  เมื่อดินมีความชื้นสูงพอจุลินทรีย์เริ่มทำงานจะเกิดการสลายตัวของฟางข้าว  เมื่อเป็นเช่นนี้อินทรียวัตถุในดินก็ต้องเพิ่มขึ้นตามการสลายตัวของฟางข้าว  และหากวัสดุเหล่านี้ช่วยในการสลายตัวของฟางข้าวอินทรียวัตถุในดินก็จะต้องเพิ่มเร็วกว่าการไม่ใส่วัสดุ  และได้ข้าวที่มีผลผลิตสูงขึ้นด้วย  โดยได้ทำการทดลองทั้งในข้าวนาน้ำลึก ( ทดลองในแปลงนา และในข้าวนาสวน ( ทดลองในถังซีเมนต์ ) ในนาน้ำลึกหลังไถกลบฟางประมาณ 1 เดือนจึงไถพรวนแล้วหว่านข้าวแห้ง  ในนาสวนหลังไถกลบฟางประมาณ 1 เดือนจึงทำเทือกแล้วปลูกข้าวด้วยวิธีหว่านน้ำตม

ในข้าวนาน้ำลึกพบว่าวัสดุทุกชนิดที่ใช้ในการทดลองไม่ช่วยย่อยสลายฟางข้าว  วัสดุทุกชนิดไม่ทำให้ผลผลิตข้าวสูงขึ้น  ซ้ำร้ายกว่านั้นปุ๋ยยูเรียยังทำให้ผลผลิตข้าวนาน้ำลึกลดลง  ทั้งนี้เนื่องจากอัตราปุ๋ยยูเรียที่หวังจะให้ช่วยย่อยสลายฟางข้าวกลับทำให้ข้าวนาน้ำลึกที่มีลักษณะผลผลิตต่ำและไม่ตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจนนั้น  ปุ๋ยไนโตรเจนที่มากเกินไปทำให้ข้าวเฝือใบและผลผลิตต่ำลงในที่สุด  ส่วนในข้าวนาสวนพบว่าวัสดุทุกชนิดไม่ช่วยย่อยสลายฟางข้าวและไม่ทำให้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นเช่นกัน  ยกเว้นปุ๋ยยูเรียที่ทำให้ผลผลิตข้าวนาสวนสูงขึ้น  ผลสรุปที่แตกต่างกันนิดเดียวแต่เป็นส่วนที่สำคัญมาก  และเข้าใจได้ง่ายก็คือในข้าวนาสวนนี้ใช้พันธุ์ข้าวชัยนาท ที่สามารถตอบสนองต่อปุ๋ยไนโตรเจนระดับสูงและให้ผลผลิตสูงด้วย  ในการทดลองกับข้าวนาสวนนี้กรรมวิธีที่ไม่ใส่ปุ๋ยยูเรียข้าวจะออกอาการเมาฟางก่อนที่จะใส่ปุ๋ย 16-20-0 เป็นปุ๋ยครั้งที่ หลังใส่ปุ๋ยตามปรกติแล้วข้าวจึงดีขึ้นแต่ก็ยังแพ้พวกที่ใส่ปุ๋ยยูเรียก่อนไถกลบฟางอยู่ดี 

                ผลจากการทดลองในข้าวนาสวนนี้ทำให้นึกถึงวิธีปฏิบัติของชาวนาในเขตชลประทานที่ทำนาติดต่อกัน 2-3 ครั้งต่อปี  ไม่ได้มีเวลาพักดินนานๆ  ชาวนาบางท่านไม่สนใจการใส่ปุ๋ยตามคำแนะนำแต่คาดว่าใส่ตามความรู้สึกของตัวเองและตามเพื่อนบ้านที่ทำแล้วได้ผลดี  กล่าวคือชาวนากลุ่มนี้จะใส่ปุ๋ยยูเรียเป็นปุ๋ยครั้งที่ 1 เมื่อข้าวอายุประมาณ 20 วัน  แล้วจึงตามด้วยปุ๋ยเม็ดคือ 16-20-0  เมื่อข้าวอายุได้เดือนกว่า  การเผาฟางข้าวในนาสวนเขตชลประทานนี้ตอซังไม่ได้ถูกเผาไหม้จนเตียนโล่งทุกแปลง  ในขณะที่ในพื้นที่นาน้ำลึกส่วนใหญ่ไฟจะเผาไหม้ตอซังติดพื้นดินจนเตียนโล่ง  ฟางข้าวที่เหลืออยู่ในนาชลประทานอาจเหลืออยู่มากถึง 1 ตันต่อไร่  เพราะต้นข้าวช่วงกลางไปจนถึงรวงเท่านั้นที่ถูกรถเกี่ยวนวดตัดแล้วนวดเอาเมล็ดข้าวเปลือกออกไปแล้วถูกพ่นออกมา  ฟางข้าวส่วนนี้แหละที่ชาวนามักจะเผาเพราะหลังถูกพ่นออกมามันจะลอยไปค้างบนตอซังที่ตั้งอยู่  ฟางข้าวจึงแห้งและติดไฟถูกเผาไหม้ไป  ตอซังที่รอดพ้นจากการเผาไหม้นี่เองที่น่าจะเป็นเส้นผมบังภูเขาที่น่าจะมีผลต่อการใส่ปุ๋ยที่ถูกต้อง  ตอซังและฟางข้าวที่เหลือนี้เมื่อถูกไถกลบจึงเริ่มขบวนการย่อยสลาย  ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าในช่วงนี้การสลายตัวของฟางข้าวจุลินทรีย์จะใช้ไนโตรเจนในดินในการย่อยสลายฟางข้าวดินจึงขาดไนโตรเจน  จึงเป็นโอกาสอันดีของปุ๋ยยูเรีย 46-0-0 ของชาวนาที่มองเห็นว่าข้าวกำลังขาดไนโตรเจนจะไปแก้สถานการณ์ได้ทัน  ในขณะที่ปุ๋ย 16-20-0 ที่ถูกแนะนำให้ใช้เป็นปุ๋ยครั้งที่ 1 อาจมีความเข้มข้นและปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อสภาวะขาดไนโตรเจนของดินนั้น  ชาวนาที่กล้าลองดีใส่ปุ๋ยยูเรียเมื่อเห็นว่าข้าวของข้าฯ กำลังแย่แล้วนั้นดูดีขึ้นมาทันตาภายใน 3 วันเลยหล่ะครับ  ปล่อยให้นักวิชาการเกษตรหรือนักส่งเสริมงงไปเลย

                ผู้เขียนได้ดำเนินงานวิจัยนี้เสร็จสิ้นแล้วในปี 2544  พอดีกับที่ศูนย์ฯ ได้ ผ.อ คนใหม่คือ  ผ.. สุเทพ  นุชสวาท  อดีตท่านเป็นผู้อำนวยการสถานีทดลองข้าวโคกสำโรง  ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตลพบุรีไปเรียบร้อยแล้ว  ในปี  2545  ท่านได้นำชุดสับใบและกลบเศษซากอ้อยมาทดลองไถกลบตอซังข้าวนาน้ำลึก  การไถกลบไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์แต่ก็เป็นที่น่าพอใจ  ผลงานออกมาดีกว่าชุดไถผาล มากเลยครับ  ชุดสับใบและกลบเศษซากอ้อยนี้เป็นผลงานของกรมวิชาการเกษตร  โดยคุณอรรถสิทธิ์   บุญธรรม  นักวิชาการเกษตร  รุ่นเดียวกันกับผู้เขียนนี้แหละที่เป็นผู้ประดิษฐ์คิดค้นร่วมกันกับหลายฝ่ายจนสำเร็จ   ต้นปี 2546  ศูนย์ฯ ได้ทดสอบชุดสับใบนี้อีกครั้งก็ได้ผลดี  ผ..สุเทพ  จึงขออนุมัติกรมวิชาการเกษตรซื้อจำนวน  37  ชุด  ซึ่งท่านอธิบดีคนปัจจุบัน  ท่านฉกรรจ์  แสงรักษาวงศ์  ได้กรุณาให้การสนับสนุน  อนุมัติเงินจำนวนมากกว่า  1.5  ล้านบาท  เพื่อจัดทำและแจกจ่ายไปตามศูนย์ฯ ต่างๆ ทั่วประเทศ  ดังนั้นหากท่านใดประสงค์จะไถกลบตอซังข้าวตามที่ผู้เขียนโฆษณาชวนเชื่อมาแล้วก็ดำเนินการได้แล้วนะครับ  หรือท่านเกษตรกรที่อยู่ใกล้เคียงกับศูนย์วิจัยข้าวและสถานีทดลองข้าวเดิมสามารถติดต่อขอยืมได้เลย     

กลับมาที่คำถามเดิม  ฟางน่ะไม่เผาทิ้งได้ไหมครับ ?  คำตอบเดิมครับ โอ๊ย ไม่เผาไถไม่ได้หรอกซังมันแยะ  อ้าวถ้าอย่างนั้นก็ไม่ต้องไถซะเลยสิจะได้ไม่ต้องเผา  ผมไม่ได้กวนนะครับปลูกข้าวโดยไม่ต้องเตรียมดินคือไม่ไถพรวน  Zero-tillage  การปลูกพืชแบบไม่ไถพรวนไงครับ  ทำได้หรือเปล่านะ ในนิเวศนาน้ำลึกมีลักษณะหลายประการที่เอื้ออำนวยให้ใช้เทคโนโลยีการปลูกข้าวแบบไม่ไถพรวน  ผู้เขียนได้ดำเนินการทดลองเบื้องต้นหลายปีแล้วได้งบประมาณมาทำวิจัยเรื่องนี้ 4 ทะเบียนวิจัย  ทำเสร็จและสรุปแล้วในปี 2546

ผลของการวิจัยสรุปได้ว่าการปลูกข้าวนาน้ำลึกแบบไม่เผาฟางข้าวไม่ไถพรวนสามารถให้ผลผลิตได้ดีไม่แพ้การปลูกแบบเดิม  แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือในปีที่สองของการปลูกแบบไม่เผาฟางข้าวไม่ไถพรวนนี้สามารถให้ผลผลิตดีโดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมีอัตราแนะนำซะด้วย  เอาไว้เล่าให้ฟังถึงรายละเอียดของวิธีการปลูกแบบนี้ในคราวต่อไปก็แล้วกันนะครับ

                สองทางครับที่อาจเป็นไปได้  อาจเป็นทางเลือกให้เกษตรกรได้ใช้หากเกษตรกรเหล่านั้นอยากจะเป็นลูกผู้ชายตัวจริงที่ยอมเปลี่ยนจากการปฏิบัติเดิม ๆ  อย่างที่นักวิจัยทั่ว ๆ ไปรู้และอย่านึกเอาเองว่าเกษตรกรจะไม่รู้นะครับ  ฟางข้าวเป็นอินทรียวัตถุที่มีธาตุอาหารเป็นส่วนประกอบแม้จะน้อยนิดหากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์  แต่หากคิดถึงปริมาณที่มีผู้อาวุโสและน่าเชื่อถือมากกว่าผู้เขียนได้คำนวณไว้ว่าฟางข้าวในบ้านเมืองเรามีมากถึง 25 ล้านตันต่อปี  ก็จะเป็นปริมาณธาตุอาหารพืชที่มากโขอยู่นะครับ  ชาวนาเขารู้ครับว่าตอซังและฟางข้าวมันจะถูกย่อยสลายภาษาชาวบ้านบอกว่ามันจะเปื่อยยุ่ยได้เองและกลับกลายไปเป็นปุ๋ยคืนให้แก่ดินในที่สุด  ฟางข้าวมีส่วนประกอบที่เป็นธาตุอาหารหลักคือไนโตรเจน 0.5-0.7 %   ฟอสฟอรัส 0.08 %  โพแทสเซียม  1.6  %  แต่หากฟางข้าวถูกเผาไนโตรเจนจะหายไปเกือบหมดคือ 93 %  ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียมหายไปประมาณ 20 %  เจ้าสองตัวหลังนี้เองที่ไปกองทับถมจนทำให้ชาวนาเข้าใจผิดว่าการเผาฟางข้าวทำให้ดินดีขึ้น  บริเวณที่เผาก็ดีขึ้นจริงๆ นะแหละแต่บริเวณอื่นขาดทุนยับสิครับ

                จากผลการวิจัยสองเรื่องคืองานวิจัยศึกษาการไถกลบฟางข้าว  และการศึกษาเทคโนโลยีการปลูกแบบไม่เผาฟางไม่ไถพรวน  ทั้งสองเรื่องนี้มุ่งสู่จุดหมายเดียวกันคือเป็นวิธีปฏิบัติที่งดเว้นการเผาฟางข้าวก็ยังสามารถปลูกข้าวนาน้ำลึกได้  เป็นทางเลือกให้เกษตรกรถึงแม้งานวิจัยนี้จะยังไม่ได้ผ่านการทดสอบในไร่นาเกษตรกร  อย่างไรก็ตามในปี 2547-2549  ผู้เขียนได้เสนอทะเบียนวิจัยผ่านสภาวิจัยแห่งชาติ ( วช. )  จะได้นำเทคโนโลยีการปลูกแบบไม่เผาฟางไม่ไถพรวนไปทดสอบในนาเกษตรกร  และศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรีได้เสนอโครงการจัดการฟางข้าวเพื่อการผลิตที่ยั่งยืน  มีวัตถุประสงค์ย่อๆคือลดพื้นที่การเผาฟางข้าว  โดยของบประมาณจากจังหวัดปราจีนบุรีในหมวดของงบกลางปี ปี 2547  งบที่ได้จะถูกใช้จ่ายไปในการทำแปลงทดสอบเทคโนโลยีทั้งสองนี้และซื้อชุดสับใบและกลบเศษซากอ้อยให้กับสำนักงานเกษตรอำเภอทุกแห่งในจังหวัดปราจีนบุรี  ไว้ให้เกษตรกรใจกล้ายืมไปทดลองใช้กันอำเภอละ 2 ตัว  ขณะนี้สำนักงบประมาณได้พิจารณาจัดสรรกรอบวงเงินเบื้องต้นให้จังหวัดปราจีนบุรีแล้ว 

อย่าลืมนะครับว่าการลดพื้นที่เผาฟางข้าวเป็นนโยบายระดับชาติ  งานวิจัยทั้งสองชิ้นของศูนย์วิจัยข้าวปราจีนบุรีโดยผู้เขียนน่าจะมีผลต่อนโยบายของชาติและการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติแบบเดิมๆ  ชาวนาบางส่วนมีการเผาตอซังและฟางข้าวจำนวนมากทิ้งไปด้วยความจำเป็นอันใดก็ตาม  การเผาฟางทิ้งเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการผลิตที่จะเป็นสาเหตุของการผลิตที่ไม่ยั่งยืนและไม่พึ่งตนเอง  ในเมื่อเราเผาทำลายทิ้งซึ่งวัสดุปรับปรุงดินที่มีประโยชน์คือตอซังและฟางข้าว  แทนที่ส่วนนี้จะถูกย่อยสลายกลับไปเป็นปุ๋ยให้แก่ข้าวในฤดูการผลิตต่อไปได้อีก  หากต้องการขบวนการผลิตที่ยั่งยืนและพึ่งตนเองมากขึ้นก็ต้องใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์แก่การผลิตมากที่สุดเท่าที่จะทำได้