บทที่ 4

การวิเคราะห์  และประเมินค่าความมั่นคงแห่งชาติ

 

1.   กล่าวทั่วไป

การประเมินค่าความมั่งคงแห่งชาติในเชิงรูปธรรม    ก็คือ การกำหนดหรือระบุลงไปว่า ความมั่นคงแห่งชาติในแต่ละองค์ประกอบเป็นอย่างไร   มีความมั่นคงมากน้อยเพียงใด  และภาพรวมทั้งสิ้นของความมั่นคงแห่งชาติเป็นเช่นไร  ซึ่งอาจอาศัยการพิจารณาปัจจัยจากองค์ประกอบพื้นฐานของพลังอำนาจของชาติที่ได้กล่าวไว้ในบทที่สาม   หรือองค์ประกอบของความมั่นคงที่ได้จัดแบ่งไว้ในบทที่สอง  กล่าวคือ พิจารณาในองค์ประกอบความมั่นคงทางด้านการเมือง ทางด้านเศรษฐกิจ  ทางด้านสังคม - จิตวิทยา  ทางด้านการทหาร  และความมั่นคงทางด้านอื่น ๆ ซึ่งในที่นี้จะได้กล่าวถึงในเรื่องของ วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี  และสิ่งแวดล้อมซึ่งในปัจจุบันได้จัดเป็นพลังอำนาจแห่งชาติในประการหนึ่งด้วย  และที่สำคัญในยุคกระแสโลกาภิวัตน์ที่จะได้กล่าวถึงก็คือ  ความมั่นคงทางด้านข้อมูลข่าวสาร  

สำหรับการประเมินค่าความมั่นคงแห่งชาติที่จะกล่าวต่อไปนี้ เป็นแนวทางในการประเมินในรูปแบบหนึ่งเท่านั้น   และเป็นการประเมินโดยมุ่งเฉพาะปัจจัยทีสำคัญ ๆ เป็นหลัก  และเน้นไปที่ปัจจัยภายในประเทศเป็นส่วนใหญ่   โดยมิได้เทียบเคียง หรือเปรียบเทียบกับประเทศอื่น[56]

 

2.   การวิเคราะห์  และประเมินค่าความมั่นคงแห่งชาติ

2.1   ความมั่นคงแห่งชาติทางด้านการเมือง    ความมั่นคงทางการเมืองเป็นพลังที่สำคัญต่อความมั่นคงของชาติ      เพราะเป็นที่รวมของอำนาจในการบริหารประเทศให้เกิดความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและสังคม    ประเทศชาติที่ระบบการเมืองมั่นคง   รัฐบาลมีเสถียรภาพ  จะสามารถเผชิญ  และแก้ปัญหาอันเป็นภัยคุกคามทั้งภายใน    และภายนอกประเทศได้    ความมั่นแห่งชาติทางด้านการเมือง อาจพิจารณาแบ่งออกเป็น 2 ประการ คือ ความมั่นคงแห่งชาติทางด้านการเมืองในประเทศ  และความมั่นคงแห่งชาติทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ

2.1.1   การเมืองภายในประเทศ

ข้อพิจารณาสำหรับความมั่นคงทางด้านการเมืองภายในประเทศที่สำคัญ  ได้แก่  ความเชื่อถือศรัทธาในระบอบการปกครอง   มีความเชื่อมั่น และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนร่วมมือกับรัฐบาล   ความมั่นคงทางการเมืองจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญที่ผสมผสานกันดังนี้

-    ระบอบการปกครอง    สังคมอยู่ได้ด้วยดี  เพราะคนในสังคมยอมรับในกฎเกณฑ์ของสังคมนั้น ประเทศชาติก็เช่นเดียวกัน   จะอยู่ในกฎเกณฑ์ใด  ระบอบการปกครองใด ก็ควรจะต้องเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับเอกลักษณ์  เหมาะกับอุปนิสัย และความต้องการของชนในชาติ

ระบอบประชาธิปไตยนั้น   ยึดมั่นและให้ความสำคัญของศักดิ์ศรี  วิถีชีวิต ความเสมอภาค และสิทธิเสรีภาพบุคคล คุณค่าและศักดิ์ศรีของมนุษย์ มีรากฐานสำคัญอยู่ที่มนุษย์สามารถใช้วิจารณญาณของตนเอง และสามารถกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง โดยปราศจากการบงการหรือการใช้กำลังบังคับ  นับว่าการปกครองระบอบประชาธิปไตย  ให้ความสำคัญและนับถือคุณค่าของมนุษย์  ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาชนชาวไทยต้องการ

สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่เคยไร้กษัตริย์ นับตั้งแต่โบราณกาลเป็นต้นมา ไม่ว่าคนไทยจะไปลงหลักปักฐานสร้างบ้านสร้างเมือง ณ ที่ใด  บ้านเมืองของคนไทยนั้นต้องมีกษัตริย์ ในยามที่บ้านเมืองเกิดยุคเข็ญ   องค์พระมหากษัตริย์นั้นว่างลง   ก็จะต้องมีคนคิดกอบกู้สถาบันพระมหากษัตริย์ให้กลับฟื้นขึ้นมาใหม่เพื่อสืบสถาบันต่อไปมิให้ขาดลงได้

เพราะเหตุว่าคนไทย แลเห็นความสำคัญแห่งสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อชีวิต ต่อสังคม และต่อการสืบทอดวัฒนธรรมไทย ทำให้สังคมมีเอกลักษณ์ของตนเอง  เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยนั้น  มีลักษณะแตกต่างจากสถาบันพระมหากษัตริย์ในสังคมอื่น ๆ อยู่มาก  เนื่องจากตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความรัก และความศรัทธาของประชาชน

นี่คือเหตุผล   และข้อพิสูจน์ว่าระบอบการปกครองที่เหมาะสมกับประเทศไทยที่สุดคือ   การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

-    ผู้บริหารประเทศ  (รัฐบาล)   รัฐบาลเป็นหัวใจของการปกครองของชาติ รัฐบาลจะต้องมีความสามารถในการบริหาร  ที่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชน สำหรับคุณภาพที่ดีของรัฐบาลก็เช่น

ž      มีความสามารถในการบริหารราชการแผ่นดิน ให้เป็นไปตามกฎหมายข้อบังคับ  และให้บรรลุวัตถุประสงค์ของชาติ

ž      มีความสามารถในการรักษาเสถียรภาพทางการเมือง

ž      มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ž      มีความสามารถในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

ž      มีความสามารถที่จะยังความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ      และสังคมให้เกิดแก่ประชาชนเป็นส่วนรวม

ž      มีความสามารถในการดำเนินการทูต

ž      มีความสามารถในการนำความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์  และเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตทั้งทางอุตสาหกรรม และเกษตรกรรมของประเทศ เพื่อสร้างความสมบูรณ์พูนสุขให้กับประชาชน

 รัฐบาลที่ดีจะต้องปฏิบัติงานให้ทันกับเหตุการณ์ และจะต้องใช้อำนาจต่าง ๆ อย่างเด็ดขาดมั่นคง และถูกทาง     เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ หากรัฐบาลประชาธิปไตยไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วนต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ประเทศชาติก็จะเกิดวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นการเข้ามาแทรกแซงของอำนาจอื่น ๆ ในสังคมที่อาจเป็นอำนาจจากฝ่ายทหารเช่นในอดีต  อำนาจจากการรวมตัวกันของคนบางกลุ่ม  อำนาจจากภายนอก  เป็นต้น

-    กลไกลของรัฐบาล   (ข้าราชการ , เจ้าหน้าที่)  ประเทศชาติที่เจริญก้าวหน้า  และมีความมั่นคงนั้น  ข้าราชการ  และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกฝ่ายทุกคนเป็นกำลังอันสำคัญในการพัฒนาประเทศ ทั้งนี้ ต้องอาศัยการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์สุจริต และทำงานอย่างมีอุดมการณ์และมีประสิทธิภาพ  มีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี  ให้ความช่วยเหลือประชาชน เป็นหลัก  และเป็นแบบฉบับที่ดีให้ประชาชนได้รู้จัก   และตระหนักในสิทธิ  หน้าที่   และความรับผิดชอบในระบอบประชาธิปไตย  และเป็นที่พึ่งอันอบอุ่นของประชาชน

-    นักการเมืองและพรรคการเมือง   นักการเมืองจะต้องเป็นผู้ที่มีอุดมการณ์   มีวินัย    เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ของตนเอง  หรือประโยชน์ของพรรค มีความเข้าใจและศรัทธาต่อระบอบประชาธิปไตย ยึดหลักและนโยบายที่ดีงาม อุทิศตนเพื่อประโยชน์สุขของชาติและประชาชน  เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์มูลฐานของชาติไทย

พรรคการเมืองต้องวางรากฐานจากประชาชนอย่างแท้จริง และมีนโยบายอย่างแน่ชัดในอันที่จะเข้าร่วมบริหารประเทศ หรือกำกับดูแลการบริหารประเทศให้เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตย  ในอันที่จะบรรลุวัตถุประสงค์มูลฐานของชาติ

-    ประชาชน  ความมั่นคงทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้นั้น  ประชาชนต้องสามารถมีส่วนร่วมในการปกครองประเทศอย่างแท้จริง  การที่จะเป็นเช่นนี้ได้ต้องให้ประชาชนมีความรู้มีความเข้าใจในสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบ  มีความเลื่อมใสและศรัทธาการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข   มีความสนใจการเมือง   รู้จักและตระหนักถึงคุณค่าของการใช้อำนาจอธิปไตยของตน  อาทิเช่น ตระหนักถึงคุณค่าของการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยให้ได้มาซึ่งผู้แทนราษฎรที่ดีที่สุด

-    ความศรัทธาของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ ที่พร้อมจะให้การสนับสนุนต่อระบอบการปกครอง  และการบริหารงานของรัฐบาลที่เป็นอยู่ในขณะนั้น      ประเทศใดก็ตามที่มีประชาชนซึ่งมีความเชื่อถือมีศรัทธา   มีความจงรักภักดี และพร้อมที่จะให้การสนับสนุนระบอบการปกครองของรัฐบาลอย่างจริงจังเป็นจำนวนมากแล้ว      ความมั่นแห่งชาติทางด้านการเมืองในประเทศก็ยิ่งมีมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากประชาชนมีความไม่พอใจในระบอบการปกครอง  หรือการบริหารงานของรัฐบาลในระยะนั้นเป็นจำนวนมากในเวลาเดียวกัน   ก็จะมีความศรัทธาและมีความพร้อมที่จะให้การสนับสนุนรัฐบาลน้อย  ก็อาจพิจารณาได้ว่า ประเทศนั้นยังไม่มีความมั่นคงแห่งชาติทางด้านการเมืองภายในประเทศ ดังจะเห็นได้จากประเทศที่มีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย แต่แนวความคิดของประชาชนเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยยังไม่ตรงกัน   ก็มักจะมีปัญหาทางด้านการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอยู่บ่อย ๆ

มีผู้กล่าวไว้ว่า เสถียรภาพและความมั่นคงของระบอบการเมือง เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดอันหนึ่งในการเสริมสร้างความมั่นคงแห่งชาติ     โดยเฉพาะในประเทศที่กำลังพัฒนา ซึ่งมักมีปัญหาวุ่นวายทางการเมือง เป็นเหตุให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพและล้มลุกคลุกคลาน ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน  ผู้นำทางการเมืองทำการฉ้อราษฏร์บังหลวงในรูปแบบต่าง ๆ ทำให้เกิดความวุ่นวายอยู่เป็นประจำ    และกลุ่มอิทธิพลจะถือเป็นปัจจัยในการปฏิวัติ  หรือรัฐประหารต่อไปซึ่งถือกันว่าเป็น "วงจรอุบาทว์  "  (Vicious   Circle) ของระบบการเมืองภายในประเทศ สำหรับในประเทศพัฒนาแล้ว ประเด็นนี้ไม่ค่อยได้กล่าวถึงกันนัก เพราะระบบการเมืองในประเทศเหล่านี้ค่อนข้างจะมีความมั่นคงพอสมควร

2.1.2   การเมืองระหว่างประเทศ

ประเทศชาติก็เหมือนคนเราตรงที่อยู่โดดเดี่ยวตามลำพังไม่ได้ จะต้องมีการคบหาสมาคม  และจะต้องอยู่ร่วมกับประเทศอื่น ๆ ในโลก  ประเทศใดมีประเทศเพื่อนบ้าน  หรือประเทศใกล้เคียงเป็นมิตรสนิทสนมกัน ไม่มีกรณีพิพาทปัญหาชายแดนหรือปัญหาขัดแย้งอื่นใด  ไม่ถูกคุกคามโดยประเทศที่มีแสนยานุภาพเหนือกว่า ก็นับได้ว่ามีความมั่นคงพอสมควร แต่จะอย่างไรก็ตามแต่ละประเทศ   จะต้องพยายามติดต่อสัมพันธ์กับประเทศอื่น หรือกลุ่มประเทศทั้งหลาย    เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติของตนทั้งด้านเศรษฐกิจ  สังคม  และวัฒนธรรมโดยการ

-    ดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างอิสระ โดยยึดถือผลประโยชน์ความมั่นคงและความอยู่รอดของชาติเป็นสำคัญ

-    ส่งเสริมสัมพันธ์ไมตรีอันดีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าและสังคม

-    ยึดมั่นในหลักการเคารพเอกราชอธิปไตย บูรณภาพดินแดน ความเสมอภาคการไม่รุกราน  และไม่แทรกแซงในกิจการภายในซึ่งกันและกัน

-    ให้ความสนับสนุนร่วมมืออย่างเต็มที่   แก่บรรดาสมาชิกของสมาคมแห่งประชาติ (เช่นกลุ่มอาเซียน)  เพื่อให้เกิดเสถียรภาพ ความมั่นคง ความไพบูลย์รุ่งเรือง และสันติสุขร่วมกัน

ทั้งนี้      โดยการติดต่อระหว่างกันโดยการทูต   การไปมาหาสู่กัน  ความมั่นคงทางการเมืองระหว่างประเทศ   จะมีส่วนช่วยให้การเมืองภายในมั่นคงขึ้น  อาทิเช่น  การรับรองรัฐบาลที่ตั้งขึ้นใหม่  ส่วนทางด้านการทหารในกรณีที่มีความขัดแย้ง  ยังอาศัยการเจรจากันเสียก่อนที่จะใช้กำลังเข้ารบราฆ่าฟันกัน

ถ้าหากนโยบายต่างประเทศไม่เหมาะสมเป็นต้นว่า นโยบายต่างประเทศที่แถลงออกไปนั้น เป็นผลให้ไปสร้างศัตรูกับประเทศของตนรอบด้าน หรือในการปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นผลให้เกิดการผลักดันต่อประเทศอื่น ๆ ร่วมตัวกัน สกัดกั้น หรือขัดขวางผลประโยชน์ของชาติของตนเอง  หรือไปรวมตัวกันร่วมทำสงครามกับประเทศใดประเทศหนึ่ง   เช่นนี้ความมั่นคงแห่งชาติทางด้านการเมืองระหว่างประเทศก็จะสูญเสียไป

2.2   ความมั่นคงแห่งชาติทางด้านเศรษฐกิจ      ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หมายถึง ฐานะความเป็นปึกแผ่นทางเศรษฐกิจของประเทศ ประเทศที่มีเศรษฐกิจดี ประชาชนของประเทศต้องมีความอยู่ดีกินดี   มีรายได้ดีพอสมควร   ผลผลิตรวมของกิจการต่าง ๆ ของประเทศมีการขยายตัวอย่างสม่ำเสมอ รายได้ของรัฐสูงนำไปพัฒนาให้เศรษฐกิจมีความเจริญก้าวหน้าอย่างมีเสถียรภาพ   และบังเกิดความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม    แก่ประชาชนโดยถ้วนหน้ามี ความเจริญมั่นคง    ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจได้แก่

2.2.1   ทรัพยากรธรรมชาติ  เช่น ป่าไม้ แร่ธาตุ และแหล่งพลังงาน คือ ทุนโดยธรรมชาติที่ประเทศใดมีมากกว่า และสามารถนำมาเป็นผลผลิตได้ย่อมจะได้เปรียบประเทศที่มีน้อยกว่า

2.2.2   ทรัพยากรมนุษย์  (Human Resources)   คือ  คุณภาพทางร่างกาย  และจิตใจของประชากร อันเป็นทรัพยากรที่มีค่าสูงสุดของประเทศ ที่ทรัพยากรอื่นใดมิสามารถจะมาทดแทนได้  เศรษฐกิจจะดีจะต้องพัฒนาคนให้มีคุณภาพ คือ มีความรู้ ความสามารถ มีวินัย ขยัน ประหยัด มานะ ซื่อสัตย์ อดทน ควบคู่กับความเจริญทางเทคโนโลยี จะเห็นได้ว่าประเทศญี่ปุ่นนั้นขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ   จะต้องพึ่งพาจากประเทศอื่น  แต่ญี่ปุ่นสามารถเอาชนะธรรมชาติที่เสียเปรียบจนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้   เพราะการพัฒนาคนควบคู่กับพัฒนาเทคโนโลยี

2.2.3   เทคโนโลยี  ในยุคปัจจุบันนี้  ความเจริญทางเศรษฐกิจนั้นเป็นผลจากการที่ปัจจัยการผลิตต่าง ๆ   ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน  วัตถุดิบ หรือทุน  มีผลผลิตสูงขึ้น  ก็เนื่องจากความก้าวหน้าในทางเทคโนโลยีนั่นเอง   ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในการผลิต  ผลิตภัณฑ์และบริหารใหม่ ๆ  ก่อให้เกิดความต้องการและสนองความต้องการ  ตลอดจนขยายกิจกรรมทางเศรษฐกิจออกไป ความเจริญและมั่นคงทางเศรษฐกิจ จึงต้องการเทคโนโลยีและการลงทุนควบคู่กันไปเสมอ บรรดาประเทศที่มีความก้าวหน้าทางอุตสาหกรรม   และประเทศที่ต้องการพัฒนาให้เป็นประเทศอุตสาหกรรม จึงได้จัดสรรงบประมาณของชาติส่วนหนึ่ง สำหรับการลงทุนเพื่อการพัฒนาเทคโนโลยี  การลงทุนดังกล่าวเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด  ในการรักษาฐานะการแข่งขันระหว่างประเทศในทุก ๆ ด้าน

2.2.4   นโยบายและการบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐ ที่เข้มแข็งโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

-    ทำให้อัตราความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจสูงขึ้นทุกปี และสูงกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของพลเมือง     โดยมีการกระจายรายได้  และความเจริญให้แผ่กระจายไปทั่วทุกท้องถิ่น   ให้รายได้ของประชาชนไม่แตกต่างกันจนเกินไป    จำนวนคนว่างงานให้ลดลงและรายได้ที่แท้จริงของประชาชนต่อคนสูงยิ่งขึ้น ๆ ทุกปี  ตลอดจนให้มีการรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ (ECONOMIC STABILITY)  ของประเทศ   ซึ่งขึ้นกับนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐ 5 ประการ คือ

ž      นโยบายการผลิต หมายถึง นโยบายในการเพิ่มผลผลิตให้พอเพียงแก่ความต้องการภายในประเทศและนอกประเทศ และจัดการให้ผลตอบแทนจากการผลิตได้กระจายไปสู่ปัจจัยแห่งการผลิตต่าง ๆ อย่างเป็นธรรม

ž      นโยบายการคลัง หมายถึง นโยบายเกี่ยวกับรายได้ รายจ่าย และหนี้สินของรัฐตลอดจนการบริหารงานคลัง

ž      นโยบายการเงิน หมายถึง การกำหนดและควบคุมปริมาณเงินให้พอเหมาะสมพอดีกับความต้องการทางเศรษฐกิจของประเทศ (คือไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ หรือเงินฝืด)

ž      นโยบายการค้าต่างประเทศ หมายถึง นโยบายเกี่ยวกับการส่งออก  การนำเข้าดุลการค้า ดุลการชำระเงิน อัตราแลกเปลี่ยน และทุนสำรองเงินตราต่างประเทศ

ž      นโยบายควบคุมภาวะตลาดในประเทศ หมายถึง นโยบายในการจัดระเบียบการดำเนินธุรกิจอันไม่ชอบธรรมแก่นักธุรกิจอื่นและประชาชนทั่วไป

-    เสถียรภาพของรัฐบาล  และความสงบสุขปลอดภัยจากภยันตรายจากภายในและภายนอกประเทศ   เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนทั้งหลาย    มีความมั่นใจในการลงทุน  การลงทุนจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตส่งเสริมให้คนมีอาชีพ มีงานทำ อุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว  นอกจากจะเป็นกิจการที่สามารถนำเงินเข้าประเทศมาแล้ว ยังมีผลให้ธุรกิจและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ขยายตัวและเติบโตไปด้วย เช่นธุรกิจโรงแรม, ธุรกิจการนำเที่ยว, สินค้าอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้า และของที่ระลึก ซึ่งจะได้ทั้งเงินตรามาพัฒนาประเทศ และเป็นการเผยแพร่ศิลปและวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์อันดีงามของชาติ

ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ จะทำให้ประเทศชาติสามารถจะจัดสรร   การพัฒนาประเทศเสริมสร้างกองทัพ  และกำลังในการป้องกันประเทศให้เข้มแข็งมีประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามศัตรูทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุข ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี มีอาชีพมั่นคงต่อไป  ทั้งนี้  ภาครัฐและภาคเอกชน  จะต้องร่วมมือร่วมใจกันอย่างจริงใจและจริงจัง เพื่อประโยชน์สุขของส่วนรวม

นอกจากนี้แล้ว  ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจสามารถที่จะพิจารณาได้จากรายได้เฉลี่ยต่อบุคคลต่อปีของประชากรทั้งประเทศ (Per  Capita)

พิจารณาจากการกระจายรายได้  ว่าเป็นไปในลักษณะที่เป็นธรรมหรือไม่ กล่าวคือ ความแตกต่างในเรื่องรายได้ของแต่ละบุคคลจะต้องพยายามไม่ให้แตกต่างกันมากนัก เช่น มีบุคคลกลุ่มเล็ก ๆ บางกลุ่มเท่านั้นที่มีรายได้สูง  แต่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศนั้นมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจต่ำจะยังถือว่าประเทศมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจไม่ได้

การพิจารณาจากความจำเป็นพื้นฐาน ที่เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในการกำหนด เส้นความยากจน โดยความจำเป็นขั้นพื้นฐานนี้  เป็นระดับขั้นต่ำที่ยอมรับได้ อันได้แก่ อาหารสุขภาพอนามัย การศึกษา เครื่องนุ่งห่ม น้ำมันและการขนส่ง หากครัวเรือนใดไม่สามารถจัดหาสิ่งจำเป็นพื้นฐานนี้ได้เพียงพอสำหรับคนในครอบครัว ก็ถือว่าอยู่ในข่ายความยากจน  ซึ่งก็จะส่งผลให้ความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในระดับต่ำไปด้วย

การพิจารณาจากมาตรฐานการครองชีพ  ก็เป็นอีกปัจจัยในการพิจารณา  เป็นการสำรวจถึงสินค้าทุกชนิดที่บุคคลหนึ่ง ๆ บริโภค และกิจกรรมทุกอย่างที่บุคคลนั้นมีส่วนร่วม การวัดมาตรฐานการครองชีพปกติจะวัดจากรายได้  หรือ รายจ่ายของครัวเรือน    ในขณะที่ในบางครัวเรือนอาจมีระดับมาตรฐานการครองชีพต่ำกว่าระดับของรายได้ ทั้งนี้เกิดจากการตัดสินใจหรือตามใจของครัวเรือนเองในการบริโภค โดยมิใช่มีสาเหตุมาจากการมีรายได้ไม่เพียงพอ  ดังนั้นในการพิจารณาสภาพความยากจน ในปัจจุบัน จึงนิยมคำนวณจากค่าใช้จ่ายพื้นฐานของครัวเรือนเพราะมีข้อมูลค่อนข้างจะถูกต้องแม่นยำกว่า

2.3          ความมั่นคงแห่งชาติทางด้านสังคม -  จิตวิทยา    สังคมวิทยา (Sociology) เป็นวิชาที่ศึกษาความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคม  โดยธรรมดามนุษย์ที่อยู่ร่วมกันในสังคมย่อมจะต้องมีการติดต่อสัมพันธ์กันอยู่เสมอ และความสัมพันธ์เหล่านี้จะประกอบเป็นโครงสร้างของสังคม (Social  Structure)  ซึ่งจะมีอิทธิพลอย่างมากเหนือพฤติกรรมของบุคคล    ดังนั้น สังคมวิทยาจึงมุ่งศึกษาโครงสร้างของสังคม  ส่วนจิตวิทยาสังคม นั้นมุ่งศึกษาพฤติกรรมของปัจเจกชนเป็นสำคัญอย่างไรก็ตาม  สังคมวิทยาเป็นเรื่องของนามธรรม   จึงเป็นการยากที่จะทำความเข้าใจให้ละเอียดลึกซึ้ง   และต้องอาศัยวิชาแขนงอื่น ๆ ของสังคมศาสตร์ประกอบในการศึกษาชีวิตของสังคม   ซึ่งจะช่วยให้ได้คำตอบที่สมบูรณ์ขึ้น

คำว่า "สังคมวิทยา"  นี้ บุคคลส่วนมากไม่นิยมเรียกกัน แต่จะเรียกสั้น ๆ ว่า "สังคม" เท่านั้น และนำไปใช้ปฏิบัติกันแพร่หลายอยู่ในปัจจุบัน เช่น  นโยบายของรัฐบาลในด้านสังคม สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ   รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม ฯลฯ เป็นต้น  สำหรับแนวความคิดทางยุทธศาสตร์เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งชาติที่เกี่ยวข้องนั้นในปัจจุบัน      มักนิยมเรียก "สังคม - จิตวิทยา"   เพราะให้ความหมายที่กว้างกว่าคำว่า "สังคมวิทยา" หรือ "สังคม"  เพียงอย่างเดียว คือ เพิ่มคำว่า "จิตวิทยา" เข้าไปด้วย   เพราะศาสตร์ว่าด้วยจิตวิทยานั้นเป็นศาสตร์ที่มีระเบียบและวิธีการค้นคว้าหาความรู้  เกี่ยวกับสาเหตุของพฤติกรรมต่าง ๆ ทุกพฤติกรรมที่เกิดขึ้นย่อมต้องมีสาเหตุ   จิตวิทยาจึงเป็นเรื่องของการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจิตใจกับพฤติกรรม

ความมั่นคงแห่งชาติทางด้านสังคม - จิตวิทยา ส่วนมากจะพิจารณาถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยทั่วไปได้รับความคุ้มครองเพียงพอ ประชาชนก็จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยความมั่นใจในความปลอดภัยจากอันตราย ปราศจากความตื่นกลัวและความวิตกกังวลต่าง ๆ  รัฐใดก็ตามที่สามารถให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนของตน  ทั้งชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างดี    รัฐนั้น ๆ ก็จะมีความมั่นคงที่ดีตามไปด้วย  นอกจากนั้นความมั่นคงแห่งชาติด้านสังคม-จิตวิทยา ยังจะต้องพิจารณาถึงความเป็นธรรมในสังคมประกอบด้วย ความเป็นธรรมในสังคมนี้ หมายถึง  ความเป็นธรรมที่ได้รับจากขบวนการยุติธรรมของรัฐเป็นสำคัญ กล่าวคือ หากประชาชนมีปัญหาขัดแย้งเกิดขึ้น   ก็จะได้รับการพิจารณาตามขั้นตอนของขบวนการยุติธรรมแก่เขาได้    โดยไม่มีอิทธิพลจากกลุ่มผลประโยชน์ใด ๆ มาบีบบังคับ

ฉะนั้น ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศมีความรู้สึกว่า ตนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินและหากเกิดปัญหาข้อขัดแย้งใด ๆ ขึ้น      หรือมีการกระทำในบางสิ่งบางอย่างที่ไม่ชอบด้วยกฏหมายของบ้านเมือง  หรือประเพณีอันดีงานของสังคมนั้นแล้ว เขาจะได้รับการพิจารณาด้วยความเป็นธรรมเช่นนี้ก็เรียกได้ว่า  สังคมนั้นมีความมั่นคง    อนึ่ง ปัญหาของการว่างงานหรือการไม่มีงานทำ   นับได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญยิ่งในสังคมปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจก็ตาม   แต่ก็มีผลกระทบต่อสังคมเป็นอย่างยิ่ง     เพราะหากมีผู้ว่างงานมากในรัฐใด    รัฐนั้นก็ย่อมเกิดความไม่สงบสุขขึ้นอย่างแน่นนอน  และจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงตามไปด้วย ไม่ว่าประเทศนั้นจะเป็นประเทศกำลังพัฒนา  หรือพัฒนาแล้วก็ตามฉะนั้น    ปัญหาทางเศรษฐกิจจึงมีส่วนสัมพันธ์และมีผลกระทบต่อสังคม-จิตวิทยาโดยตรง

ความมั่นคงของชาติทางด้านสังคมจิตวิทยา ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์และการผสมผสานกับของลักษณะความเข้มแข็งมั่นคงของพลเมืองอันมีองค์ประกอบดังนี้

2.3.1   สถาบันที่เป็นองค์คุณแห่งชาติ   คือ สถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนจะต้องดำรงรักษาและเสริมสร้างให้เข็งแกร่งมั่นคง ประวัติศาสตร์ไทยได้บ่งบอกไว้ชัดเจนว่า  ชาติไทยอยู่รอดปลอดภัยตลอดมาเพราะคนไทยยึดมั่นใน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

2.3.2  ลักษณะความเข้มแข็งมั่นคงของพลเมือง       อยู่ที่คนในสังคมจะต้องมีคุณภาพ  มีสุขภาพและคุณธรรมที่ดีเป็นพื้นฐาน ประเทศชาติเป็นสังคมใหญ่ จะมั่นคงได้อยู่ที่ผู้บริหารประเทศจะต้องเป็นหลักสำคัญในการสร้างสรรให้ประชาชนมีคุณภาพ สุขภาพ และคุณธรรม   และให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรม  สังคมที่มั่นคงจะต้องดำรงซึ่งเอกลักษณ์ที่ดีของสังคมนั้นไว้อย่างมั่นคงถาวร เอกลักษณ์ของชาตินอกจากจะเป็นบ่อเกิดแห่งความภาคภูมิใจของคนในชาติแล้ว  ยังเป็นจุดรวมที่ช่วยให้เกิดการประสานความคิด ประสานจิตใจ เกิดความร่วมใจ ซึ่งนำไปสู่ความสามัคคีของปวงชน  ทั้งหมดนี้เป็นหลักสำคัญในการพัฒนาความเข้มแข้งมั่นคงของพลเมืองให้ผสมผสานและเสริมสร้างความมั่นคงของสถาบันที่เป็นองค์คุณแห่งชาติ

2.3.3   การพัฒนาคุณภาพ

-    การศึกษา  คือ การสร้างคุณภาพของคน ทำให้คนฉลาดรอบรู้ เพื่อนำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและสังคม นอกจากความรู้ในด้านการประกอบอาชีพแล้ว จำเป็นจะต้องมีความรู้ความเข้าใจในระบอบการปกครอง ความรู้ต่าง ๆ นั้นไม่เพียงแต่จะเรียนรู้จากสถาบันการศึกษาเท่านั้น  การเรียนรู้จากประสบการณ์ชีวิตเป็นสิ่งที่มีความสำคัญควบคู่กันไป  และจะต้องควบคู่ไปกับการเสริมสร้างคนให้ยืนหยัดอย่างภาคภูมิใจด้วยตนเอง   มีความเป็นตัวของตัวเอง   โดยมีจุดหมายมุ่งไปสู่ชีวิตที่มีอุดมการณ์  เพื่อการได้รับการยอมรับว่าเป็นคนมีคุณค่าในการดำรงชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคม เป็นต้นว่า     การมีมนุษย์สัมพันธ์ที่ดี สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างกว้างขวาง   และสามารถผลักดันให้งานที่เกี่ยวข้องก้าวไปสู่เป้าหมายได้ มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวมและต่อหน้าที่    ทั้งในหน้าที่ของพลเมืองดีและหน้าที่การงาน   มีความเป็นผู้นำที่ดี มีความสุขุมรอบคอบในการพิจารณาปัญหาต่าง ๆ    มองปัญหาได้กว้างกว่าเพียงการมองจากมุมของตนเอง สามารถยืนอยู่ได้อย่างมั่นคงท่ามกลางปัญหาทั้งหลาย และสามารถตัดสินใจได้อย่างลึกซึ้งถูกต้อง

-    การปลูกฝังและสร้างเสริมให้มีระเบียบวินัย และเคารพกฎหมาย ในการดำรงชีวิตของคนเรา  ทั้งในด้านความเป็นอยู่และในด้านการงานนั้น  ย่อมต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่เสมอ  การมีระเบียบวินัยจึงนับว่าเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นแก่ชีวิตประจำวันของคนเรา    ซึ่งส่งผลสะท้อนไปสู่สังคมโดยส่วนรวมได้  การทำงาน  การประพฤติปฏิบัติใดก็ตาม ถ้าอยู่ในระบบแบบแผนที่ดีงาม   ก็จะส่งผลในทางที่เป็นคุณ   ทุกอย่างจะดำเนินไปด้วยดี   มีความรวดเร็ว ไม่สับสน ทำให้เกิดความน่าดู น่าชม และเป็นการยุติธรรมต่อคนทั่วไป   ตัวอย่างที่เห็นชัดได้แก่การใช้รถ ใช้ถนน ถ้าผู้ขับขี่ยานพาหนะเคารพกฎจารจร ขับรถด้วยความระมัดระวัง ไม่ขับขี่ด้วยความประมาท  ใช้อัตราความเร็วสูงและแซงกัน     ผู้ใช้ทางข้ามถนนในทางข้ามที่กำหนดไว้ ไม่พรวดพราดวิ่งข้ามในขณะที่รถกำลังวิ่งมา ปัญหาที่เป็นอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน และปัญหาการจราจรติดขัดอันส่งผลกระทบกระเทือนต่อการเดินทาง   ต่อธุรกิจการงานของผู้อื่นก็จะไม่มี     การมีระเบียบวินัยและเคารพต่อกฎหมาย  จะบังเกิดผลที่เป็นคุณต่อตนเองและสังคม ความไม่มีวินัยจะเกิดผลในทางตรงกันข้าม คือ ความสับสนวุ่นวาย ความบาดหมาง ไร้ความสามัคคี และเกิดอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้

-    ความรับผิดชอบ  สิ่งหนึ่งที่เป็นคุณค่าของคนเราคือ  ความรับผิดชอบที่จะต้องมีต่อตนเอง  ต่อครอบครัว  ต่อสังคมและประเทศชาติ    ความรับผิดชอบต่อครอบครัว  จะนำให้คนประพฤติปฏิบัติในทางที่จะนำความสุข   ความเป็นปึกแผ่น    ความสุขและความมีหน้ามีตามาสู่ครอบครัว   ความรับผิดชอบต่อการงาน ย่อมจะทำให้การงานลุล่วงอย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลให้ตนเองและหน่วยงานนั้น ๆ มีความเจริญก้าวหน้า

ประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้ามั่นคง ทุกฝ่ายทุกคนในชาติต้องมีจิตสำนึกในความรับผิดชอบร่วมกันอย่างถ้วนหน้า

2.3.4   สุขภาพ  การพัฒนาสุขภาพพลานามัย   เพื่อพัฒนาให้คนเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อสังคม เป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง คนเราจะต้องมีสุขภาพพลานามัย และสุขภาพจิตที่สมบูรณ์ เพื่อการทำงานหรือการปฏิบัติภารกิจดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ การบริการทางด้านสาธารณสุขจึงเป็นสิ่งจำเป็น  เช่นให้การศึกษาแก่ประชาชนในเรื่องการระวังสุขภาพ การป้องกันตนเองจากโรคภัยไข้เจ็บ ให้การป้องกันและรักษาโรค วางมาตรการเกี่ยวกับการอุปโภคและบริโภคที่ปลอดภัย เช่น ด้านโภชนาการ , สุขาภิบาล , การวางแผนครอบครัว ฯลฯ

โรคภัยไข้เจ็บเมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่เพียงแต่จะร่างกายอ่อนแอ ขวัญและกำลังใจ ตลอดจนสมรรถภาพในการทำงานย่อมจะเสื่อมลงเท่านั้น แต่จะกระทบกระเทือนต่อภาวะเศรษฐกิจในครัวเรือนด้วย ถ้าประชาชนอ่อนแอ เศรษฐกิจทรุด ประเทศชาติย่อมจะทรุดตามด้วยโดยมิต้องสงสัย

2.3.5   คุณธรรม  สังคมที่เหนียวแน่นมั่นคงนั้น    คนในสังคมนอกจากจะมีความรู้มีความสามารถแล้ว   จิตใจของคนในสังคมจะต้องหล่อหลอมให้อยู่ในจุดเดียวกัน    เพื่อรักษาความภาคภูมิใจในคุณลักษณะอันเป็นเอกลักษณ์ของสังคมนั้น เพื่อการปฏิบัติร่วมกันในการจรรโลงสังคม คนผู้มีความรู้สูงหากขาดความเป็นคนดีมีคุณธรรมแล้ว     ความรู้นั้นก็หาได้บังเกิดผลดีมีคุณค่าแต่ประการใดไม่    คนก็จะใช้ความรู้และความสามารถที่เหนือกว่านั้น   เบียดเบียนเอารัดเอาเปรียบและข่มเหงรังแกผู้อื่น   และถ้าคนเราขาดจุดหมายสำคัญที่จะร่วมกันผดุงไว้  บรรยากาศก็จะเป็นไปในลักษณะตัวใครตัวมัน ขาดความร่วมมือ ความรัก และความอบอุ่น     ถ้าหากส่วนรวมปราศจากบรรยากาศที่ดีเสียแล้ว   แต่ละคนซึ่งต่างก็หวังที่จะอยู่ในบรรยากาศที่ดีได้อย่างไร สำหรับคุณธรรมที่ส่งเสริมสามัคคีธรรมเพื่อให้เกิดบรรยากาศที่น่าปราถนาได้แก่

-    การดำรงและส่งเสริมเอกลักษณ์ของชาติ    เอกลักษณ์ของชาตินั้น นอกจากเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงความเป็นชาติ และลักษณะไทยว่าแตกต่างจากชาติอื่นแล้ว ยังมีความสำคัญต่อความอยู่รอด ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้าของชาติไทยอีกด้วย การที่ประเทศไทยซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานชาติหนึ่งในโลก สามารถดำรงความเป็นอิสระปกครองประเทศเป็นปึกแผ่นมากกว่า 700 ปี มาจนบัดนี้     ก็เนื่องมาจากชาวไทยมีเอกลักษณ์สำคัญ  ซึ่งสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงให้ชื่อว่า “คุณธรรม 3 ประการของชนชาติไทย” คือ ความรักอิสระเสรีประการหนึ่ง ความปราศจากวิหิงสาหรือการไม่เบียดเบียนผู้อื่นประการหนึ่ง และความฉลาดในการประสานประโยชน์อีกประการหนึ่ง

นอกจากเอกลักษณ์สำคัญทั้งสามประการนี้แล้ว  เรายังมีเอกลักษณ์สำคัญที่ควรแก่การภาคภูมิใจอีกหลายประการ เช่น ความโอบอ้อมอารี มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีเมตตากรุณาต่อผู้อื่น โดยเฉพาะผู้ตกทุกข์ได้ยาก ความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณอันมี บิดา มารดา บุพการี ครูบาอาจารย์ ประมุขผู้ปกครองตลอดจนประเทศชาติเป็นอาทิ ความรัก ความผูกพันอันแน่นแฟ้นของสมาชิกในครอบครัวไทยเหล่านี้ เป็นเอกลักษณ์ของชาติไทยที่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย

อย่างไรก็ตามสิ่งที่แสดงออกถึงความเป็นไทย หรือเอกลักษณ์ไทย มีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดีคุณธรรมบางอย่างแม้เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าเราไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ และไม่ระมัดระวังในการปฏิบัติแล้ว ก็อาจนำไปสู่เอกลักษณ์ที่ไม่ดีได้ เช่น ความฉลาดในการประสานประโยชน์อาจนำไปสู่การเอารัดเอาเปรียบผู้อื่นเป็นการคดโกงหรือทุจริต ในทำนองเดียวกันความรักความผูกพันระหว่างสมาชิกในครอบครัวก็อาจทำให้คนเรารักแต่เฉพาะสมาชิกในครอบครัวของตน จนขาดความสามัคคีกับผู้อื่นและขาดความยุติธรรมได้

อีกประการหนึ่ง เอกลักษณ์มิใช่สิ่งที่มั่นคงถาวร แต่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามกาลสมัยเพราะอิทธิพลของสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ การที่วัฒนธรรมและเทคโนโลยีของต่างประเทศเข้ามาทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมไทยค่อยเปลี่ยนไป  เช่น ในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว ครูกับศิษย์ เยาวชนกับศาสนา ซึ่งนับวันจะห่างกันยิ่งกว่าที่ได้เคยเป็นมา

โดยที่เอกลักษณ์เป็นสิ่งที่แปรเปลี่ยนได้ จึงจำเป็นที่ชนชาวไทยจะได้ช่วยกันอนุรักษ์เอกลักษณ์ที่มีความสำคัญและดีงามอยู่เดิมนั้นให้คงอยู่ต่อไป ขจัดและสกัดกั้นสิ่งที่ไม่เหมาะสมต่าง ๆ ทั้งที่มีอยู่เดิมและจากแหล่งภายนอก       ในขณะเดียวกันควรส่งเสริมคุณธรรม ค่านิยมที่เอื้อต่อการพัฒนา เช่นการพึ่งตัวเองให้มากยิ่งขึ้นด้วยการกระทำเช่นนี้ได้ชื่อว่าเป็นการสร้างเอกลักษณ์ของชาติ  ซึ่งเป็นงานที่สำคัญมาก เพราะเอกลักษณ์ของชาตินั้น นอกจากจะเป็นบ่อเกิดแห่งความภาคภูมิใจของคนในชาติแล้ว ยังเป็นจุดรวมที่ช่วยให้เกิดการประสานความคิด ประสานจิตใจ ซึ่งจะนำไปสู่ความสามัคคีของปวงชนและความมั่นคงของชาติอีกด้วย

 

-    อุดมการณ์  ความสำเร็จของการสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชาติจะแน่นอนขึ้น    ถ้ามีการพัฒนาอุดมการณ์ขึ้นมา  เป็นแนวทางในการอยู่ร่วมกันในสังคม   ความมั่นคงของสังคมขึ้นอยู่กับการยอมรับ และยึดมั่นในอุดมการณ์เดียวกันของคนในสังคม ประเทศที่ยิ่งใหญ่ทุกประเทศจะยึดอุดมการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแนวนำประเทศ ผู้นำและประชาชนของประเทศจะมีความเข้าใจเป็นอย่างดีว่า เป้าประสงค์และผลประโยชน์ของประเทศ คืออะไร   และจะดำเนินนโยบายและดำเนินการอย่างไร  เพื่อบรรลุเป้าหมาย

-    ศาสนา ศาสนาเป็นหลักยึดมั่นประจำใจคน สอนให้คนมีจิตใจสงบและประกอบคุณงามความดี คนไทยนั้นมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาใด ๆ ก็ได้  จุดเด่นของคนไทยคือผู้ที่นับถือศาสนาต่างกัน สามารถอยู่ร่มกันได้โดยไม่มีปัญหาขัดแย้งใด ๆ  ยามเมื่อชาติมีภัยก็ยังร่วมกันต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคให้ประเทศชาติรอดพ้นภัยอันตรายมาได้

-    วัฒนธรรม  วัฒนธรรมหมายถึงความเจริญงอกงาม    ความเป็นระเบียบเรียบร้อยทางคุณธรรม และศีลธรรมแต่ละชาติจะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน นับแต่การแต่งกาย, ภาษา, ศิลปการแสดง และสถาปัตยกรรม    วัฒนธรรมที่ดีงามเป็นเครื่องบ่งบอกถึงความเจริญงอกงามในด้านของวัตถุ และในด้านจิตใจ   นำความภาคภูมิใจ  หล่อหลอมจิตใจคนให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการที่จะดำรงไว้  และทำนุบำรุงสิ่งอันน่าภาคภูมิใจของชาติไว้

-    ศีลธรรม   การพัฒนาคนของเราทุกวันนี้  ควรจะปูพื้นฐานด้วยศีลธรรมเป็นหลัก  สังคมที่ปราศจากศีลธรรมก็เปรียบเสมือนกีฬาที่ปราศจากกติกาซึ่งชอบด้วยเหตุผล   ย่อมจะมีการทุจริต   คดโกงและละเมิดสิทธิของผู้อื่น  ศีลธรรมจึงเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาคน   คนที่มีความรู้ความสามารถถ้าขาดคุณธรรม   ขาดศีลธรรมเสียแล้ว  ย่อมจะใช้สิ่งเหล่านี้เอาเปรียบและเบียดเบียนผู้อื่น   สร้างความวุ่นวายแก่สังคมได้    ยิ่งเทคโนโลยีก้าวไกลมากเท่าใด  การพัฒนาจิตใจคนให้มีศีลธรรมยิ่งจะมีความจำเป็นมากขึ้น

2.3.6   ความเป็นธรรม   คนในสังคมจะต้องได้รับหลักประกันในเสรีภาพ  และความปลอดภัย ได้รับความยุติธรรม ความเป็นธรรม อย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกันในสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ อาทิเช่น   โอกาสมีโอกาสในการศึกษา, ความก้าวหน้าตามความรู้ความสามารถ,  การได้รับความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพตามขอบเขตกฎหมาย  และการได้รับบริการทางสังคมเพื่อเสริมสร้างสุขภาพ คุณภาพ และคุณธรรม

2.4 ความมั่นคงแห่งชาติทางด้านการทหารและป้องกันประเทศ

การที่ประเทศชาติจะมีความมั่นคงทางการทหารเพียงใดนั้น นอกจากจะต้องมีกำลังทหารอาวุธยุทโธปกรณ์ในการป้องกันประเทศ และรักษาความสงบสุขภายในประเทศอย่างเพียงพอแล้ว กำลังทหารและหน่วยถืออาวุธดังกล่าว ยังจะต้องมีคุณภาพ อุดมการณ์ วินัย มีขวัญและกำลังใจสูง รวมทั้งมีความเป็นปึกแผ่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน   นอกจากนั้น  ยังจะต้องมีการดำเนินการทางยุทธศาสตร์  และยุทธิวิธีอย่างเป็นระบบ เพื่อให้สามารถเอาชนะการคุกคามทั้งภายในและภายนอกประเทศได้อีกด้วย

ในยามปกติ    กำลังทหารที่มีอยู่   จะมีขีดความสามารถในการป้องกันตนเพียงระดับหนึ่งเท่านั้น    ถ้าถูกข้าศึกใช้กำลังเข้ารุกรานก็จะต้องสามารถทำการต่อสู้ป้องกันให้ได้ และจะต้องทำให้ฝ่ายรุกรานตระหนักว่า  ฝ่ายรุกรานจะต้องประสบกับการต้านทานอย่างรุนแรง และประสบความเสียหายอย่างหนัก  ทั้งยังไม่มั่นใจได้ว่าจะสามารถเอาชนะได้  ฉะนั้น ฝ่ายรุกรานจึงน่าจะต้องยับยั้งชั่งใจอย่างหนัก และพิจารณาถึงอัตราการเสี่ยงและการสูญเสียที่จะบังเกิดขึ้นก่อนที่จะทำการรุกราน

ค่าใช้จ่ายในการใช้กำลังอำนาจทางการทหาร   เพื่อดำเนินการสงครามนั้น    นับว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่แพงมหาศาลมากในปัจจุบัน เพราะยุทโธปกรณ์สมัยใหม่นั้นค่อนข้างสลับซับซ้อน ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูง จึงทำให้มีราคาแพงมาก เกินขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของประเทศทั่ว ๆ ไปที่จะรับไว้ได้ แม้กระนั้นก็ตาม บางประเทศก็จำเป็นต้องตัดสินใจเข้าสู่สงคราม  หากเศรษฐกิจไม่อำนวยให้ก็ต้องอาศัยหาวิธีกู้ยืมมาใช้จ่าย 

ประเทศมหาอำนาจเอง ก็ได้รับผลกระทบกระเทือนทางด้านเศรษฐกิจจากาการสงคราม หรือการสนับสนุนให้ประเทศอื่นดำเนินการสงคราม อย่างที่เรารู้จักกันว่า "สงครามตัวแทน" (Proxy  War) ในห้วงสงครามเย็นนั้น ก็มีตัวอย่างให้เห็นเด่นชัด ในสงครามเวียดนาม สหรัฐฯ ต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณวันละ 63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สงครามระหว่างอิรักกับอิหร่านในปี พ..2523 ซึ่งใช้เวลานานถึง 10 ปีเศษ    เพียงช่วงระยะเวลา 18 เดือน นับตั้งแต่เริ่มต้นสงคราม ประมาณว่าทั้งสองฝ่ายคือคู่สงครามต้องเสียค่าใช้จ่ายถึง 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ     สหภาพโซเวียตที่ต้องล่มสลายไปอันเป็นตัวอย่างอันดีของการใช้จ่ายในการดำเนินการสงครามในอาฟกานิสถาน การสนับสนุนค่าใช้จ่ายการดำเนินการสงครามในเวียดนาม  การสนับสนุนสงครามตัวแทนในยุโรป และซีกโลกอื่น ๆ รวมทั้งการตั้งงบประมาณค่าใช้จ่ายในด้านการป้องกันประเทศอยู่ในเกณฑ์สูง ทำให้เกิดผลกระทบต่อฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศมาโดยลำดับ   จนกระทั้งต้องล่มสลาย และร้องขอความช่วยเหลือจากประเทศโลกเสรีในปัจจุบัน

ประเทศที่กำลังพัฒนาโดยทั่วไป ย่อมมีข้อจำกัดที่จะดำเนินการสงครามเป็นอย่างมาก เพราะฐานะทางเศรษฐกิจไม่อำนายให้ นอกจากนั้น ยุทโธปกรณ์ที่จะต้องใช้ส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถจะผลิตขึ้นใช้เองได้ จำเป็นต้องซื้อจากต่างประเทศ ฉะนั้น แม้จะเกิดความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการสงคราม  หรือไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงการสงครามได้  เพราะถูกการรุกรานจากประเทศอื่นก็จะต้องหาวิธีที่จะยุติสงครามให้ได้โดยเร็วที่สุด  เพื่อมิให้ประเทศต้องสู่ความหายนะ หรือล่มสลายลงไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ลักษณะของสงครามในปัจจุบัน มีแนวโน้มของการใช้กำลังทหารในอนาคตว่าประเทศคู่สงครามไม่สามารถจะเอาชนะฝ่ายตรงข้ามได้โดยเด็ดขาด  คำว่าแพ้หรือชนะค่อนข้างจะไม่มีโอกาสนำมาใช้ในการรบปัจจุบัน   เมื่อการสู้รบดำเนินไปถึงจุดหนึ่ง  และเห็นว่าจะสามารถบีบบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งปฏิบัติตามความต้องการของฝ่ายที่ได้เปรียบ ก็อาจเสนอให้มีการหยุดรบและหาทางเจรจากัน    เพื่อมิให้ฝ่ายที่เสียเปรียบต้องประสบกับความหายนะอย่างรุนแรง และเพื่อสงวนชีวิตของกำลังฝ่ายตนไว้   โดยใช้มาตรการด้านอื่นเข้าควบคุมบีบบังคับให้ฝ่ายตรงกันข้ามยอมจำนน เช่น การปิดล้อมทางเศรษฐกิจ ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งเป็นการเสียค่าใช่จ่ายที่น้อยกว่าการเข้าดำเนินการสงครามโดยตรง ดังนั้น ประเทศต่าง ๆ จึงพยายามหลีกเลี่ยงการใช้กำลังทหารแก้ไขปัญหา โอกาสที่จะนำกำลังทหารของชาติไปใช้ในการแก้ปัญหาระหว่างประเทศ จึงมีแนวโน้มไปในทางลดน้อยลง เว้นแต่ จะเป็นการปฏิบัติไปตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงขององค์การสหประชาชาติเท่านั้น

2.4.1  ภารกิจและหน้าที่ของกองทัพไทย   สำหรับกองทัพไทยนั้น  มีภารกิจในการป้องกันประเทศ,  การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ, การรักษาความมั่นคงภายใน  และการพัฒนาประเทศ

ทหารหรือกองทัพ     จะมีบทบาทในการป้องกันรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติตรงตามความหมายที่แท้จริง กล่าวคือ การป้องกันรักษาเอกราชของชาติ หมายถึงการป้องกันรักษามิให้ชาติตกอยู่ใต้อำนาจของต่างชาติ ซึ่งคำว่า “อำนาจ” ในที่นี้หมายถึง “อำนาจทางการเมือง” หรือ “การปกครอง” ของต่างชาติเป็นสำคัญ การป้องกันรักษาเอกราชของชาติจึงเป็นบทบาทของทหารในด้านความมั่นคงทางการเมืองระหว่างประเทศ

 ส่วนการป้องกันรักษาอธิปไตยของชาตินั้น ก็หมายถึงการป้องกันรักษาอำนาจอธิปไตย  หรืออำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศให้เป็นของประชาชนตลอดไป   ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามหลักอธิปไตยของปวงชนอัน เป็นหลักการสำคัญหรือเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตยนั่นเอง

การรักษาความสงบเรียบร้อยภายใน  เป็นงานเสริมของกองทัพที่ต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือค้ำจุนประเทศชาติให้มีความมั่นคง  พร้อมที่จะพัฒนาทางด้านการเมืองต่อไปได้  เป็นการสนับสนุนการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐทางฝ่ายพลเรือนในการบังคับใช้กฎหมาย  เพื่อมิให้สังคมต้องประสบความสูญเสียจากการก่อความวุ่นวายขึ้นภายในประเทศ  แต่อย่างไรก็ตามการดำเนินการดังกล่าวนี้ได้เกิดผลกระทบในเชิงลบต่อกองทัพเป็นอย่างมาก  ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากการดำเนินการที่ไม่เหมาะสมต่อสถานการณ์ของกองทัพนั่นเอง 

การรักษาความมั่นคงภายใน  เป็นภารกิจอีกประการที่กองทัพไทยได้กระทำมาเป็นเวลาหลายสิบปี  ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในอุดมการณ์ด้านการปกครองประเทศ  ระหว่างประชาธิปไตย  กับคอมมิวนิสต์  หรือแม้แต่ในปัจจุบันเราก็ยังมีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในที่คอยแก้ปัญหาความมั่นคงภายในประเทศอยู่  โดยเฉพาะปัญหาในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง

การพัฒนาประเทศ  สำหรับประเทศที่กำลังพัฒนาเช่นประเทศไทยเรานี้   กองทัพมีส่วนสำคัญอย่างมากในโครงการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ  ไม่ว่าจะเป็นโครงการพระราชดำริ  หรือโครงการของรัฐบาลก็ตาม

2.4.2   ประสิทธิภาพของกองทัพ  ประสิทธิภาพของกองทัพนั้นอยู่ที่

-    ผู้นำที่ดี

-    ทหารมีความสามัคคี มีความกล้าหาญ เสียสละ อดทน มีวินัย ขวัญและกำลังใจเข็มแข็ง

-    อาวุธยุทโธปกรณ์ทันสมัย มีประสิทธิภาพ

-    ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี เหมาะสม

-    วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ก็มีความสำคัญต่อการสร้างศักยภาพของกองทัพทั้งในด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ ยานพาหนะขนส่ง และการสื่อสาร

 ความมั่นคงทางด้านการทหาร  หรือการป้องกันประเทศนั้น  ถ้ามีขีดความสามารถสูงพอก็จะสามารถป้องปราม  และเผชิญต่อภัยคุกคามทั้งภายนอก  และภายในได้  

2.5   ความมั่นคงแห่งชาติทางด้านอื่น ๆ   เนื่องจากในแต่ละห้วงเวลา  และการเปลี่ยนแปลงของวิทยาการ  วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี  ยุคสมัยของสังคม  มีผลกระทบต่อการแบ่ง  หรือการกำหนดพลังอำนาจแห่งชาติ  การแบ่งองค์ประกอบของสังคม  หรือการแบ่งองค์ประกอบของความมั่นคงแห่งชาติด้วย    ดังนั้นเราจึงควรได้มีการเปิดแนวทางการประเมินความมั่นคงแห่งชาติ  ไว้ให้กับปัจจัยที่เด่นขึ้นมาในแต่ละห้วงด้วย   สำหรับในปัจจุบันนี้ความมั่นคงด้านอื่น ๆ ที่ควรนำมาพิจารณาก็คือ  ความมั่นคงแห่งชาติทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี,  ความมั่นคงแห่งชาติทางด้านสิ่งแวดล้อม  และความมั่นคงแห่งชาติทางด้านข้อมูลข่าวสาร

2.5.1   ความมั่นคงแห่งชาติทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี    เป็นการพิจารณาองค์ประกอบด้านเทคโนโลยีของชาติ   ว่ามีความก้าวหน้ามากน้อยเพียงใด   สามารถสร้างสรรค์ผลงานด้านวิทยาศาสตร์  และเทคโนโลยีด้วยตนเองหรือไม่  หรือต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติ  ซึ่งผลของการต้องพึ่งพาเทคโนโลยีผู้อื่นนั้น   ก็จะทำให้ความมั่นคงในด้านนี้ของตนลดน้อยลงไป

2.5.2    ความมั่นคงแห่งชาติทางด้านสิ่งแวดล้อม  เป็นการพิจารณาองค์ประกอบทางด้านสิ่งแวดล้อมภายในชาติ  ซึ่งจะมีผลต่อภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงในอนาคต  นอกจากนี้จะยังส่งผลต่อทั้งทรัพยากรมนุษย์  ที่จะถูกลดทอนประสิทธิภาพอันเป็นผลจากสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ  และส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติ  ที่ถูกทำลายไปซึ่งก็จะทำให้พลังงาน  คุณประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากธรรมชาติได้สูญหายไปด้วย

2.5.3   ความมั่นคงแห่งชาติทางด้านข้อมูลข่าวสาร   เป็นความมั่นคงที่มีความสำคัญขึ้นมาตามยุคสมัย    อันเป็นผลจากกระแสโลกาภิวัตน์ที่เชื่อมต่อโลกเข้าด้วยกัน  ทำให้การติดต่อสื่อสาร   การแพร่กระจายของข้อมูลข่าวสารเป็นไปได้อย่างง่ายได้  ผลกระทบที่ติดตามมาก็คือ  ความไม่เท่าเทียมกันในการบริโภคข้อมูล  การบริโภคข้อมูลที่มากเกินไป  การถูกข้อมูลที่บิดเบือนนำไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด  การเข้ามาทำลายข้อมูลจากกลุ่มที่ไม่หวังดี  การบริโภคข้อมูลที่ไม่เหมาะสมของเยาวชนในสังคม  และปัญหาอันเนื่องมาจากข้อมูลข่าวสารอีกนานับประการ

ในเรื่องความมั่นคงทางด้านข้อมูลข่าวสารนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่    ดังนั้นการขาดความเข้าใจ  และขาดการเรียนรู้ในเรื่องนี้จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อไปในอนาคต

 

3.   บทสรุป

การประเมินค่าความมั่นคงแห่งชาติ  สำหรับประเทศหนึ่งประเทศใดทั่วไปนั้น  อาจสรุปได้ว่า  ประเทศใดก็ตามที่มีความมั่นคงทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ  สังคม-จิตวิทยา การทหาร  และด้านอื่น ๆ สูง  ก็ถือได้ว่า ประเทศนั้นมีความมั่นคงแห่งชาติมาก

อย่างไรก็ตาม  ความมั่นคงแห่งชาติโดยรวมนั้น  ย่อมขึ้นอยู่กับความมั่นคงทุกด้าน ที่มีส่วนสัมพันธ์กันอย่างเหมาะสม กล่าวคือ บางประเทศอาจมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจสูง มีรายได้ประชาชาติมาก  ประชาชนส่วนรวมอยู่ดีมีสุข แต้ถ้าหากความมั่นคงด้านอื่นน้อย   เช่นทางด้านการทหารอยู่ในระดับต่ำ เช่นนี้ จะถือเอาว่าประเทศนั้นมีความมั่นคงแห่งชาติสูงไม่ได้     ตัวอย่าง ที่แสดงให้เห็นชัดก็คือ กลุ่มประเทศทางตะวันออกกลาง เป็นต้น   หรือแม้แต่ประเทศในยุโรป เช่นประเทศสวิตเซอร์แลนด์  ซึ่งมีรายได้เฉลี่ยต่อบุคคลต่อปีสูงสุดในโลก ก็หาได้มีความมั่นคงแห่งชาติโดยรวมสูงของโลกไม่ ฉะนั้น การพิจารณาประเมินค่าความมั่นคงแห่งชาติ จะต้องไม่มุ่งเพ่งเล็งเพียงด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะไม่ เช่น ด้านเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว หรือพิจารณาเฉพาะอำนาจและประสิทธิภาพของอาวุธ หรือพิจารณาเฉพาะอำนาจกำลังทหารแล้วสรุปง่าย ๆ ว่า    ถ้าชาติใดมีปัจจัยดังกล่าวมากกว่าแล้ว    จะต้องเป็นฝ่ายที่มีความมั่นคงแห่งชาติสูงกว่าอีกชาติหนึ่ง    หรือจะสามารถรักษาความสงบของประเทศได้เสมอไป   

 

…………………………

                  

 



[56] พจน์  พงศ์สุวรรณ์, พล.., อ้างแล้ว  ในเชิงอรรถที่ 1 , หน้า 47

Hosted by www.Geocities.ws

1