<< หน้าแรก  |  ประวัติ |    การจัดหน่วย  |  ผู้บังคับหน่วย อากาศยาน |  นิรภัยการบิน  |  Links  >>

 


คนรุ่นเก่าเขาเล่าให้ฟัง
(ต่อ)


ภายหลัง ย.สะดุดครั้งที่ 2 ผ่านไปคิดว่าประมาณ 1 นาที คราวนี้ผมต้องเจอของจริงแน่ ๆ เพราะอาการจาก ย.ของผมมันหยุดและเงียบเสียงไปเฉย ๆ โดยไม่มีการสะดุดแต่อย่างใด มันเงียบ ๆ สนิทจนผมวังเวง ขณะนี้คงมีแต่เสียงหายใจของตัวเองกับเสียงลมที่กระโชกพัดมาสัมผัสกับ บ.ดัง “ซู่” เท่านั้น ความแรงของลมภายนอกยังคงพัด บ.ของผมจนเด้งไปเด้งมา ขณะนั้นผมไม่มีเวลาคิดโกรธหรือโมโหกับคนที่ไม่รู้จริงที่หลอกเราอีกแล้ว ญาติพี่น้องลูกเมียก็ไม่คิด คิดเพียงแต่ว่าจะบังคับ บ.อย่างไร เมื่อลงถึงพื้นแล้วมันชำรุดเสียหายน้อยที่สุด กับประการต่อมาผมกับ พ.ท.ธวัชฯ ต้องปลอดภัยด้วย จากนั้นผมได้บังคับ บ.เพื่อรักษาความเร็วร่อน ด้วยมุมร่อนแล้วปรับ TRIM เพื่อให้บินได้ด้วยความสบายตรงไปยังพื้นที่สีเขียวที่เลือกไว้ และไม่ลืมบิด SWICTH MAGNETO กลับมาอยู่ตำแหน่ง OFF กับ SWICTH ทุกตัวผมผลักลงมาที่ OFF หมด สายรัดตัวรัดไหล่ที่ปรับขยายไว้หลวม ๆ ผมปรับให้อยู่ในตำแหน่งที่ตึงพอสมควร ผมไม่ลืมหันไปบอก พ.ท.ธวัชฯ ว่า “ผมจะลงตรงพื้นที่สีเขียว ๆ ข้างล่างเรานี่แหละ” พ.ท.ธวัชฯ แกคงไม่รู้จะพูดอะไรกับผมมั้ง หรือไม่แกอาจจะกำลังปลุกพระหรือท่องคาถาอะไรสักอย่าง แกบอกผมโดยที่ไม่ต้องตะโกนเหมือนก่อนว่า “โอเค ตามสบาย” วิธีการนำ บ.เข้าไปหาที่หมายเพื่อทำการลงนั้น มีหลายวิธีด้วยกัน เช่น การบินตรงหน้า (STRAIGHT IN) การบินทำ S-TURN และการเลี้ยวร่อนควงเกลียว (SPIRAL) ส่วนการพิจารณาเลือกขึ้นอยู่กับระยะทางและระยะสูง ระหว่าง บ.กับที่หมายขณะนั้น แต่สำหรับผมขณะนี้ระยะสูงอยู่เกือบ 2000 ฟุต และที่หมายอยู่ใต้ท้อง ผมจึงเลือกเอาวิธีเลี้ยวร่อนควงเกลียวทางซ้าย ส่วนพื้นที่ ๆ ต้องเลือกเมื่อจำเป็นต้องบังคับ บ.ลงฉุกเฉิน (FORCED LANDING) นั้นสิ่งที่ต้องการคือต้องเป็นพื้นที่กว้างยาวเพียงพอ มีเขตร่อนเพียงพอพื้นแข็ง ใกล้เส้นทางคมนาคม และใกล้หมู่บ้าน สรุปว่าต้องเป็นพื้นที่ ๆ ดีที่สุดในบริเวณนั้นที่นักบินสามารถบังคับ บ.ไปถึง แต่การเลือกพื้นที่ลงฉุกเฉินของผมครั้งนี้เกินดีไปหน่อยคือ นอกจากมีหมู่บ้านแล้วยังมีวัดซึ่งมีเมรุพร้อมที่จะฌาปนกิจได้ทันทีหากเกิดบังคับ บ.ผิดพลาด เมื่อเขียนมาถึงตรงนี้ “ไหน ๆ ก็ไหน ๆ” มันเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผมเอง การลงฉุกเฉินอันเนื่องจาก บ.ไม่สามารถทำการบินต่อไปได้ในกรณีทันทีทันใด จะด้วยสาเหตุใดก็ตามแต่ บ.ขณะนั้นยังคงอยู่ในสภาพบังคับได้ นักบินที่จะรอดได้ผมว่าจะต้องประกอบด้วยโชคกับความสามารถ ทั้ง 2 อย่าง พร้อม ๆ กัน หรือพูดตามภาษานิยมคือ “เก่งกับเฮง” นั่นเอง เก่งหมายถึงนักบินที่มีความสามารถบังคับ บ.เป็นเลิศ ส่วนเฮงหมายถึงความมีโชคดีเป็นเยี่ยม หากเก่งอย่างเดียวไม่ไม่เฮง เช่น บ.เกิดความจำเป็นต้องลงฉุกเฉินในทะเลแต่ บ.ไม่มีอุปกรณ์ยังชีพในทะเลติดไปด้วย หรือ บ.จำเป็นต้องร่อนลงฉุกเฉินขณะที่บินอยู่เหนือเทือกเขาที่เป็นป่าทึบ นึกดูก็แล้วกันมันจะรอดรึ เช่นเดียวกัน นักบินอาศัยเฮงอย่างเดียวแต่ไม่เก่ง เช่น เมื่อขณะทำการบิน บ.เกิดจำเป็นต้องลงฉุกเฉินทันทีทันใด ด้วยความเฮงบริเวณนั้นมีพื้นที่ หากเป็นนักบินที่มีความสามารถคงนำ บ.ลงไปได้ด้วยความปลอดภัย แต่หากนักบินคนนั้นความสามารถน้อยไปนิด เกิดบังคับ บ.ผิดพลาด พา บ.ไปไม่ถึงหรือพา บ.ลงไปเลยพื้นที่และหรือบังคับ บ.ผิดพลาดจนเกิดอาการร่วงหล่น (STALL) ก่อนถึงที่หมาย คงมีสิทธิ์ไม่หายใจเหมือนกัน

ผมบังคับ บ.ให้เลี้ยวร่อนควงเกลียวอยู่เหนือพื้นที่ทุ่งสีเขียว 1 รอบ ตอนนี้ไม่ได้ดูเครื่องวัดสูงแล้วประมาณเอาด้วยความเคยชิน ว่าน่าจะสร้างวงจรเพื่อทำการลงได้แล้วสำหรับการลงตรงจุดที่กำหนด (PRECISION LANDING) มีวิธีการลงได้ 4 วิธีคือ 900 SIDE, 1800 SIDE, 1800 OVER HEAD และ 3600 OVER HEAD APPROACH ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความสูงระยะห่าง และทิศทางลมเป็นต้น ขณะนั้นทิศทางของ บ.ร่อนไปทางทิศตะวันตก แต่ทิศทางลมสังเกตได้จากควันไฟพัดมาจากทิศใต้ ส่วนพื้นที่ทุ่งสีเขียวของผมอยู่ข้างหน้าทางซ้ายประมาณ 10 นาฬิกา ผมจึงเลือกวิธีการลงตรงจุดที่กำหนดด้วยท่า 900 SIDE

ประสบการณ์เคยสอนไว้การกะสนามเพื่อทำการลง หากไปไม่ถึงมีแต่ตายกับตาย ควรให้เกิดหรือล้ำไว้เล็กน้อย เพราะมีท่าบินที่ช่วยแก้ไขได้คือ ทางแฉลบและท่าเลี้ยวแฉลบจาก BASE LEG ผมค่อย ๆ เลี้ยวซ้ายเข้า FINAL LEG ให้สวนกับทิศทางลมแต่ก็ไม่ลืม CHECK เครื่องวัดเร็วเพื่อรักษาให้คงที่ไว้ บางครั้งอาจเกินไปบ้างแต่ยังดีกว่าน้อยกว่าเกณฑ์ ผมพยายามข่มใจให้เป็นปกติทั้ง ๆ ที่ทำได้แสนยาก บ.ร่อนผ่านแนวสูงของต้นไม้ใหญ่ซึ่งขวางหน้าอยู่ ส่วนพื้นที่สีเขียวแปลงใหญ่ที่เลือกไว้มิใช่ว่าจะมีระยะทางยาวนัก ขืนปล่อยให้ บ.ร่อนลงไปตามสบายโดยที่ไม่แก้ไขอะไรสักอย่าง พื้นที่ดังกล่าวอาจไม่พอให้ บ.ร่อนลงได้ จากนั้นผมจึงใช้วิธีบินท่าแฉลบ (SLIP) เพื่อลดระยะสูงให้เร็วที่สุด โดยที่ความเร็วร่อนไม่เปลี่ยนจากเดิมเมื่อระยะสูงใกล้พอที่จะเงย 2 แล้ว ผมจึงปรับท่าบินจากท่าแฉลบเป็นท่าบินระดับในขณะที่รอให้ บ. STALL ลงสัมผัสพื้นอยู่นั้น บ.เริ่ม ยุบตัวต่ำลงผมได้ยินเสียงดัง “พรี๊ด ๆ ๆ ๆ” ที่ฐานล้อทั้ง 2 ข้าง บ.มีอาการสะเทือนเล็กน้อยและ ยุบตัวลงสัมผัสพื้นสะเทือนเสียงดัง “ติ๊ก” บ.ยังคงวิ่งตรงไปข้างหน้าอีกประมาณ 10 เมตร ก็หยุดสนิท เรา 2 คนไม่ได้รีบร้อนลงจาก บ.คงนั่งอยู่อย่างนั้นสักครู่ จึงลงมาเพื่อสำรวจความเสียหาย ผลปรากฏว่าทั้ง บ.และคนไม่ได้ชำรุดเสียหายแต่อย่างใด คงเป็นที่โชคช่วยประกอบกับฟลุ๊คเสียมากกว่า เพราะพื้นที่ทุ่งสีเขียวที่มองเห็นที่ความสูง 2000 ฟุต นั้นแท้จริงแล้วคือพื้นที่ ที่ชาวบ้านเขาปรับจนเรียบสำหรับปลูกแตงโม (แตงโมเมล็ด) ขณะนั้นแตงโมกำลังให้ผลพอดี พื้นดินอ่อนนุ่มและเปียกเพราะฝนตกลงมาเมื่อคืนที่แล้ว ผมเห็นว่าเมื่อเรา 2 คน ไม่ได้รับบาดเจ็บและ บ.ก็ไม่ได้สูญเสียอะไรจะทำให้มีกำลังใจพูดเล่น พูดเองตอบเองเพื่อทำลายความเงียบและความเครียดกับ พ.ท.ธวัชฯ ว่า “รู้ไหม ทำไมผมจึงต้องมาลงตรงนี้ เป็นเพราะเผื่อเราบังคับผิดพลาดถ้าถึงกับตาย มันหามเข้าวัดใกล้ดีไง” พ.ท.ธวัชฯ คงไม่ต้องการจะพูดอะไรกับผมมั้ง ได้แต่พูดแบบบ่นขึ้นมาลอย ๆ ว่า “ไอ้ห่าจิกไส้ บอกเราบินได้ 4 ชั่วโมง แต่ไหง 2 ชั่วโมงก็หมดแล้ว ยังงี้ก็ตายซีว่ะ” พร้อมกับรูดซิบชุดบินลงมาจนถึงเอว ถ้าคงจะร้อน ต่อจากนั้นเป็นหน้าที่ของบริษัทที่ต้องนำรถบรรทุกมาเพื่อถอดประกอบขึ้นรถกลับสนามบินภูหมอกต่อไป ก่อนจะจาก ๆ พื้นที่สีเขียวที่ผมและ พ.ท.ธวัชฯ บังคับ บ.ร่อนลงฉุกเฉินและรอดมาได้ทั้งคนและ บ.อย่างปาฏิหาริย์ ผมไม่ลืมบอกผู้จัดการซึ่งมาดูด้วย ตัวเองให้จ่ายเงินให้กับเจ้าของไร่บ้าง เพราะพืชไร่เขาเสียหายบ้างเหมือนกัน สัก 500 บาท ซึ่งเขาเองก็ไม่ได้เรียกร้องแต่อย่างใด แต่เจ้าของไร่เขาพูดอย่างไร อยากรู้ไหมครับ เขาพูดว่า “โอ๊ย ไม่ต้องมาให้ผมหรอก ผมเห็นนักบิน 2 คนไม่เป็นไรผมก็ดีใจแล้ว” นี่แหละหนาน้ำใจของคนไทย ซึ่งเป็นคนบ้านนอกบ้านนา ยากจน การศึกษาน้อย แต่ช่างประเสริฐงดงามเสียนี่กระไร

<<  ย้อนกลับ >>
ตอนบินท่า ควงสว่าน แล้วแก้ไม่ออก

 
         

Suggestions: mailto:[email protected]
Copyright
 
2001 1st. Cavalry Division Aviation Company - All rights reserved

Hosted by www.Geocities.ws

1